วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ความอ้วนทำให้สมองฝ่อและเป็นโรคความจำเสื่อม Ep.85

ภาวะอ้วนทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมายที่ทำให้คุณอายุสั้นลง ทฤษฎีที่อธิบายกลไกนี้ได้ดีที่สุดคือความอ้วนไปมีผลทำให้เกิดการดื้อต่ออินสุลิน (Insulin resistance,IR) จากนั้นจะมีระดับอินสุลินที่สูงขึ้น (hyperinsulinemia) ในกระแสเลือกทั่วร่างกาย ซึ่งอวัยวะต่าง ๆ ต้องประกอบไปด้วยหลอดเลือดที่มาเลี้ยงนี้ จึงอุปมาเหมือนอวัยวะต่างๆของร่างกายถูกแช่อิ่มอยู่ในอินสุลินสารอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเสื่อมตั้งแต่ตัวเซลล์บุผิวหลอดเลือดเอง (endothelial dysfunction) ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมองไป จนถึงระดับไขมันในเลือดที่สูงขึ้น กลุ่มโรคที่มากับภาวะอ้วนนี้ทางการแพทย์ให้ชื่อเก๋ไว้ว่า “เมตาโบลิกเอ็กซ์ซินโรม (Metabolic X syndrome)” คำนี้เพิ่งมาฮิตในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่มีผลการสำรวจลงหนังสือพิมพ์ว่าคนไทยประสบปัญหาโรคอ้วนและเมตาโบลิกเอ็กซ์ซินโดรมกันมากขึ้นจนน่าตกใจ

 

 

ที่ต้องเกริ่นนำถึงกลไกของโรคอ้วนที่ทำให้เกิดโรคมรณะต่างๆ นี้เพราะคุณจะได้เข้าใจและเห็นภาพในวงกว้างของการทำลายอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเรา เนื่องจากที่ผ่านมาคุณหมอทั้งหลายท่านจะแนะเพียงว่าโรคอ้วนนี้ ทำให้เกิดโรคร้ายตามนี้ แต่เมื่อไม่ทราบกลไกพวกเราส่วนใหญ่ก็ยังนอนใจอยู่ คือรู้นะว่าร้ายแต่ไว้เดี่ยวค่อยลดน้ำหนักน่า นอกจากนั้นผลการวิจัยจากสวีเดน ที่ตอกย้ำว่าโรคอ้วนเป็นภัยสำคัญอย่างหนึ่งที่บั่นทอนชีวิตคุณไม่ให้ยืนยาวถึง 120 ปีอย่างที่ควรจะเป็น งานนี้ตีพิมพ์ลงในวารสารสมาคมโรคระบบประสาทในสหรัฐ ยืนยันผลที่ว่า ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทำให้สมองฝ่อและความจำเสื่อม dementia มากกว่าคนผอมโดยเฉพาะในสตรี

 

การวิจัยในสตรี จำนวน 290 คน ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 1908-1992 โดยการตรวจร่างกายและนัดมาทำเอกซเรย์สมองด้วยคอมพิวเตอร์ ในช่วง 1968-1992 และหลังจากที่สตรีเหล่านั้น มีอาย 70-84 ปี ก็ตรวจสมองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์อีกครั้ง พบว่า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองของสตรีที่มีขนาดดัชนีมวลรวม BMI มากกว่า จะมีสมองฝ่อมากกว่า โดยเฉพาะในส่วนที่เรียกว่าสมองกลีบข้างหรือ temporal lobe ที่เป็นส่วนควบคุมความจำ ภาษาและการได้ยิน โดยเฉพาะถ้ามี BMI มากกว่า 30 ซึ่งจัดว่าอ้วน พบว่า สตรีที่สมองฝ่อ มี BMI เฉลี่ยมากกว่า ประมาณ 1-1.5 ยิ่งกว่านั้น พบว่า ถ้า BMI เพิ่ม จะมีผลทำให้สมองฝ่อเพิ่มขึ้น 13-16% ต่อ 1 BMI “การวิจัยครั้งนี้ ยืนยันผลการศึกษาอื่นๆ ที่ว่า ความอ้วน ทำให้สมองฝ่อมากขึ้น” นพ.กุสตาฟสันหนึ่งในคณะผู้วิจัยกล่าว

 

เมื่อคุณเห็นดังนี้แล้วหวังว่า คงจะหันมาดูแลเรื่องใกล้ตัวเช่น รอบเอว ให้มากขึ้นก่อนที่จะไปหาวิตามินเสริมมาบำรุงสมองไม่ให้เสื่อม เพราะเป็นสิ่งง่ายๆ ที่แก้ไขได้ด้วยตัวของคุณเองการบดรอบเอวนั้นควรใช้ 2 วิธีประกอบกัน คือ

1.จำกัดแคลอรี่โดยเฉพาะจากแป้งและน้ำตาลรวมถึงงดรับประทานอาหารเย็น (ตั้งแต่หลัง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป) เพราะกินอาหารเย็นจะไปกระตุ้นยีนที่เปลี่ยนแป้งให้เป็นไขมันสะสมในร่างกายได้ง่ายขึ้น

2.ออกกำลังกายเฉพาะส่วนร่วมด้วย การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นสิ่งที่ดีแต่ไม่ช่วยลดไขมันรอบเอวเท่าที่ควร ต่อให้คุณเช่นนี้ทุกวันหน้าท้องของคุณก็ยังยื่นอยู่ โดยเฉพาะในคุณผู้หญิง นั่นเป็นอิทธิพลจากฮอร์โมนด้วยเช่นกัน ดังนั้นการออกกำลังกายเฉพาะส่วนเพื่อลดหน้าท้องนั้นมีความจำเป็นมาก คุณอาจใช้วิธีซิทอั้พ หรือลุกนั่งเริ่มจากวันละ 30 ครั้งจากนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันละ 60 ครั้ง ในช่วงแรกอาจใช้แขนช่วยด้วยไม่เป็นโรครับเพราะกล้ามเนื้อหน้าท้องของคุณยังไม่แข็งแรงพอร่วมกับมีไขมันไปแทรกอยู่ในมวลกล้ามเนื้อ

 

อานิสงส์ของการลดรอบเอวและหน้าท้องนั้น นอกจากทำให้คุณอยู่ห่างจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน อัมพฤกษ์หรืออัมพาตมากขึ้น แล้วยังช่วยให้ดูบุคลิกดีหน้าท้องไม่ยื่นย้วยหลังแอ่น ไหล่ไม่งองุ้มมาข้างหน้า เพราะไขมันหน้าท้องเป็นตัวฉุดจุดศูนย์ถ่วงของร่างกายให้ยื่นไปข้างหน้า ดังนั้นหลังของคุณจึงต้องแอ่นหน้ามาด้วย เป็นดังนี้นานๆ จะทำให้ปวดหลังขึ้นมาอีก นอกจากนั้นยังทำให้โอกาสเกิดไส้เลื่อนน้อยลงด้วย ภาวะไล้เลื่อนนี้ไม่ได้จำกัดสิทธิ์ว่าต้องเป็นเฉพาะในสุภาพบุรุษนะครับ เพราะกลไกการเกิดไส้เลื่อนก็คือ เมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อหน้าท้องจะลดน้อยลง ทำให้ผนังหน้าท้องบาง ผนังที่อ่อนแอนี้ทำให้ลำไส้ในท้องที่มีความดันสูงกว่าดันโป่งออกมาได้โดยง่าย เหมือนลูกโป่งที่ผนังบาง ส่วนบางกว่าโดยรอบเมื่ออัดความดันเข้าไป ส่วนที่บางก็จะปูดยื่นออกมามากกว่าบริเวณอื่น ดังนั้นเมื่อผนังหน้าท้องคุณแข็งแรงดีมีกล้ามเนื้อรัดไว้แน่นเป็นสเตย์ ก็หมดสิทธิ์ที่ไส้จะเลื่อนโป่งออกมาให้เกิดเรื่องวุ่นวาย ทั้งหมดนี้เพราะอยากให้ทราบว่าลดหน้าท้องแล้วมีดีหลายอย่าง ไม่ใช่แต่ป้องกันสมองเสื่อมอย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นวันนี้เรามาเริ่มตั้งเป้าหมายกันเลยว่า จะลดหน้าท้องและควบคุมน้ำหนักให้กลับมาสู่ค่า BMI ปกติ เพื่อถนอมร่างกายเอาไว้ให้ห่างไกลโรคได้นานที่สุด

 

ที่มาและการอ้างอิง

ถอดรหัสความชรา ตอน 120 วิธี อายุยืน 120 ปี เล่ม 1 เรียบเรียงโดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช