วันเสาร์, 14 กันยายน 2567

สูบบุหรี่ร่วมกับกาแฟ ทำลายหลอดเลือดในร่างกาย Ep.97

ผลการวิจัยแห่งคณะแพทย์เอเธนส์ พบการสูบบุหรี่ควบคู่กับการดื่มกาแฟจะส่งผลร้ายต่อหลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัว และลดการยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่แพทย์ยืนยันอันตราย ทำความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบ เกิดโรคหัวใจ เตือนให้เลิกทั้งบุหรี่และกาแฟช่วยยืดอายุและลดปัญหาค่ารักษาที่แพง

 

 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยผลการวิจัยของ ดร.ซาลาแลมบอล ฟลาโซโพลอส แห่งคณะแพทย์เอเธนส์ กรีซ และคณะ ที่ศึกษาถึงผลกระทบของการสูบบุหรี่และดื่มกาแฟควบคู่กันพบว่า คนที่ดื่มกาแฟร่วมกับสูบบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดแดงใหญ่แข็งตัวขึ้น และลดความยืดหยุ่นลงอย่างรวดเร็ว โดยการวิจัยนี้เป็นการศึกษาอันตรายจากดื่มกาแฟร่วมกับการสูบบุหรี่ต่อหลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นการศึกษาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

ระยะสั้น ศึกษาบุคคลในวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี จำนวน 24 คน และระยะยาวศึกษาในกลุ่มบุคคลวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดีจำนวน 160 คน โดยแบ่งผู้เข้าร่วมศึกษาเป็นสี่กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่ 1 ศึกษาก่อนและหลังสูบบุหรี่ 1 ม้วน
  • กลุ่มที่ 2 ศึกษาก่อนและหลังสูบบุหรี่ 1 ม้วน และให้ได้รับกาแฟอีน 200 มิลลิกรัม (เท่ากับดื่มกาแฟ 2 ถ้วย)
  • กลุ่มที่ 3 ให้สูบบุหรี่ปลอม
  • กลุ่มที่ 4 ให้สูบบุหรี่ปลอมและรับคาเฟอีนปลอม

โดยให้ทำเช่นนี้ทุกวันอย่างต่อเนื่อง จากนั้นวัดผลการวิจัยด้วยการจับชีพจรและดัชนีความยืดหยุ่นของเส้นเลือดแดงใหญ่ พบว่าคนที่สูบบุหรี่และได้รับการแฟอีนร่วมกันจะมีภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่แข็งตัวและลดความยืดหยุ่นลงอย่างชัดเจน เมื่อได้เปรียบเทียบกับผลการศึกษาในระยะยาวก็ได้ผลเช่นเดียวกัน การวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นผลเสียในการทำลายหลอดเลือดที่เพิ่มมากขึ้นจากการเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกันของบุหรี่และกาแฟ ซึ่งในทางการแพทย์พบว่านิโคตินทำให้หลอดเลือดหดตัวและเสื่อมเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงผิดปกติ เกิดไขมันสะสมในหลอดเลือด จึงทำให้เส้นเลือดตีบตันในที่สุด ดังนั้น การสูบบุหรี่และดื่มกาแฟร่วมกันจะมีผลในการทำลายหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น

 

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า ทั้งบุหรี่และกาแฟต่างส่งผลเสียต่อหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ เกิดโรคหัวใจ คำแนะนำสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มกาแฟ คือให้เลิกทั้งสูบบุหรี่และดื่มกาแฟพร้อมกันจะส่งผลให้มีอายุยืนขึ้น ลดความเสี่ยงของโรคร้ายแรงต่างๆ และการรักษาที่ปลายเหตุ การทำบอลลูนหรือการผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อรักษาโรคหัวใจ เป็นการรักษาเพื่อให้มีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถทำให้อวัยวะสำคัญที่เสียไปกลับคืนมาได้

 

เส้นเลือดก็เปรียบเหมือนกับท่อน้ำ ถ้าไม่มีการทำความสะอาด แต่กลับทำให้สกปรกยิ่งขึ้นด้วยการสูบบุหรี่และดื่มกาแฟ เมื่อสะสมเข้าไปนาน ๆ ก็เกิดการอุดตัน

 

ผลก็คือเป็นโรคต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียตามมา เป็นภาระของผู้อื่นที่ต้องดูแลและต้องเผชิญกับปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูง อย่างการผ่าตัดหลอดเลือดเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 200,000-500,000 บาท การทำบอลลูนเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 200,000-400,000 บาท วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มกาแฟ

 

source : ถอดรหัสความชรา ตอน 120 วิธี อายุยืน 120 ปี เล่ม 1  เรียบเรียงโดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช