วันจันทร์, 7 ตุลาคม 2567

วิธีคิดเงินบํานาญประกันสังคม

10 ต.ค. 2018
6382

ผมจะเล่าเรื่อง  เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพกองทุนประกันสังคม สักหน่อย! ตั้งแต่เค้าแจ้งเงินชราภาพเป็นตัวหนังสือไปถึงมือทุกคนเมื่อเดือนที่แล้ว ทำเอาเพื่อนผมหลายคนสงสัยเพราะเพิ่งมีเป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้งประกันสังคม หลายคนถามว่ารับเงินคืนเลยได้ไหม เพื่อนๆ ลองใช้เวลาอ่านสิทธิของตัวเองแค่ 5 นาทีแล้วจะเข้าใจ…เอาสั้นๆ น่ะ

 

บำเหน็จ กับ บำนาญชราภาพ

1.คนที่ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 31.ธ.ค.41 จะได้เงินบำเหน็จบำนาญทุกคน ขอย้ำว่าทุกคน!!
2.ใครจะได้บำเหน็จ / ใครจะได้บำนาญ ขึ้นอยู่กับจำนวนงวดของการส่งเงินสมทบ ถามว่าเลือกได้ไหม ตอบว่าเลือกไม่ได้
3.คนที่ส่งเงินสมทบ 1-179 งวด ได้เงินบำเหน็จ (เงินก้อนคราวเดียวเลิกกัน ยามชราตัวใครตัวมัน)
4.คนที่ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 งวดขึ้นไปได้ “เงินบำนาญ” (เงินเลี้ยงชีพรายเดือนตลอดชีวิต)

 

180 งวด มาจากไหน : ทุกเดือนที่นำส่งเงินสมทบจะนับให้ 1 งวด ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่อง ขาดบ้าง ส่งบ้าง ไม่เป็นไร เอาใส่เข่งรวมกัน ค่อยมานับตอนชรา

 

เราจะได้รับบำเหน็จบำนาญเมื่อใด : มี 2 เงื่อนไข ย้ำว่าต้อง 2 เงื่อนไข!!
1.ออกจากงาน
2.อายุเกิน 55 ปี

 

ถามว่า : ออกจากงานแล้ว แต่อายุไม่ถึง 55 ปี เบิกได้ไหม ตอบว่า เบิกไม่ได้
ถามว่า : อายุเกิน 55 ปีแล้ว แต่ยังทำงานอยู่ เบิกได้ไหม ตอบว่า เบิกไม่ได้

 

รับบำเหน็จบำนาญก่อน อายุ 55 ปีได้ มี 2 เรื่องคือ
1.เป็นผู้ทุพพลภาพ
2.เสียชีวิต

 

ถามต่อว่าถ้าได้รับเป็นเงินบำนาญ ได้เดือนกี่บาท?

สมมุติ ผู้ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเฉลี่ย 15,000 บาท ออกจากงานตอนเกษียณอายุ 60 ปี ส่งเงินสมทบมาทั้งสิ้น 35 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละเท่าใด และหากเสียชีวิตภายใน 5 ปี หลังจากรับบำนาญจะได้อะไร

 

1. ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญ คำนวณดังนี้

= 15 ปี (แรก) ได้อัตราเงินบำนาญ 20%

= 20 ปี (หลัง) ได้อัตราเงินบำนาญ (1.5% (ทุกรอบปี) × 20 ปี ) = 30%

รวมอัตราเงินบำนาญ 35 ปี = 20% + 30% = 50%

 

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน
= 50% ของ 15,000 บาท

= 7,500 บาท/เดือนตลอดชีวิต

 

2. กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้วเสียชีวิตภายใน 5 ปี ทายาทมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน

ถามต่ออีกว่า บำเหน็จกับบำนาญ อะไรคุ้มกว่ากัน ผมขอบอกเลยว่า บำนาญคุ้มที่สุด” บำนาญจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัย คือ
1.ค่าจ้าง 5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ
2.อายุงาน

 

ตัวอย่าง
ถ้าประกันตนข้างต้นอายุยืนถึง 85 ปี และรับบำนาญตั้งแต่อายุ 60 ปี มาคำนวณกันว่าเค้าจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมกี่บาท แล้วกองทุนฯ ต้องจ่ายในรูปของบำนาญคืนกี่บาท

 

1.ผู้ประกันตนคนนี้จ่ายเงินเข้ากองทุนเท่าใด? มาคิดกัน

เอา 750 คูณ 12 (เดือน) คูณ 35 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 315,000 บาท

 

2.คนนี้รับเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนฯ เป็นเงินกี่บาท?

เอา 7,500 คูณ 12 (เดือน) คูณ 25 ปี ได้เท่ากับ 2,250,000 บาท (สองล้านสองแสนห้าหมื่นบาท)

 

3. ถ้าคนๆ เดิมอายุยืนยาวซัก 90 ปี รับบำนาญรวม 2,700,000 บาท (สองล้านเจ็ดแสนบาท)

4. ถ้าคนๆเดิมอายุแค่ 67 ปี รับบำนาญรวม 630,000 บาท

5.ถ้าคนๆเดิมอายุเพียง 63 ปี ได้เงิน 270,000 + บำเหน็จตกทอด (กรณีเสียชีวิตภายใน 5 ปี)

6.ถ้าคนนี้ตายก่อนขอรับบำนาญจะจ่ายเป็นบำเหน็จให้ทายาทตามกฎหมาย พร้อมเงินปันผล

 

นี่คือ 1 ใน 7 ของสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม เท่านั้น ยังมีอีก 6 กรณี เช่น ค่ารักษาพยาบาล เจ็บป่วย ค่าทันตกรรม ฟันเทียม ค่าคลอดบุตร ค่าหยุดงานเพื่อการคลอด เงินสงเคราะห์บุตร เสียชีวิต เงินสงเคราะห์การเสียชีวิต เงินทุพพลภาพ เงินว่างงาน แล้วเอาเงินที่ไหนมาจ่ายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ อันนี้ในหลักกฎหมายเงิน 750+750 จะถูกนำมาแบ่งย่อย เพื่อจ่ายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ โดยเฉพาะเงินบำเหน็จบำนาญส่วนของตัวเองและส่วนของนายจ้างจะเก็บไว้ที่ 3%ของ 15,000 เป็นเงิน 450+450 ต่อเดือน เท่ากับว่าเรามีเงินชราภาพ 900 บาท/ต่อเดือน และ 10,800 บาท/ปี (ถ้าลูกจ้างทำงานหลายที่เงินบำเหน็จอาจจะมากกว่า 10,800 บาท)

ค่าจ้างเฉลี่ยคือ คือ ค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ(ค่าจ้าง 5 ปีสุดท้าย)มารวมกัน แล้วหารด้วย 60 (ค่าจ่างอยู่ระหว่าง 1,650-15,000) ค่าจ้างเฉลี่ยต่ำเงินบำนาญก็จะต่ำ

ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ภาคสมัครใจ) ได้กำหนดเงินเดือนเท่ากันทุกคนคือ 4,800 บาท

เงินที่แจ้งในหนังสือนั้นสำหรับผู้ที่รับบำเหน็จชราภาพเท่านั้น

ส่วนคนรับบำนาญจะได้ตามตัวอย่างที่คำนวณข้างต้น ใครที่คิดว่าบำเหน็จดีกว่าเป็นการคิดในช่วงสั้นๆ ถ้ามองในระยะยาว…ลองคิดดู

 

ที่มา : facebook : Mc Keeratisakulkarn