วันเสาร์, 18 พฤษภาคม 2567

สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมที่ส่งต่อถึงทายาทและครอบครัว

23 ก.ค. 2019
1226

เพื่อนๆ มนุษย์เงินเดือนรู้กันไหมครับว่าประกันสังคมที่เราจ่ายเงินสมทบอยู่ทุกเดือนนี้ นอกจากเราจะได้รับความคุ้มครองถึง 7 กรณีด้วยกันแล้ว ยังมีบางกรณีที่ครอบครัวและลูกหลานของเราได้รับผลประโยชน์ด้วยนะครับ มีอะไรบ้าง มาดูกันเลยครับ

 

 

สิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต

หากเรา (เรียกว่า “ผู้ประกันตน”) เสียชีวิต กองทุนประกันสังคมจะจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้รับสิทธิตามกฏหมายหรือทายาทตามกฏหมาย ได้แก่ บิดา มารดา สามี ภรรยา และบุตรที่ชอบด้วยกฏหมาย โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือนภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนผู้ประกันตนเสียชีวิต ซึ่งผู้รับประโยชน์ต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปีหลังผู้ประกันตนเสียชีวิต โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนดังนี้

 

1. เงินค่าทำศพ จำนวน 40,000 บาท

2. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต จำนวนตามเงื่อนไขดังนี้

2.1 หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วเกิน 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 10 ปี : ผู้รับสิทธิ์จะได้เงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 1.5 เดือน โดยคำนวณจากเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

2.2 หากผู้ประกันตนจ่ายเงนสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป : ผู้รับสิทธิ์จะได้เงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 5 เดือน โดยคำนวณจากเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

 

นอกจากนี้ ในกรณีของสิทธิประโยชน์จากการเสียชีวิต ผู้รับประโยชน์ยังได้รับ สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ” ด้วยครับ โดยต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปีหลังผู้ประกันตนเสียชีวิตเช่นกันครับ มีเงื่อนไขดังนี้

 

กรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปี (ก่อนได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญจากกองทุนฯ) กองทุนฯ จะจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ทายาท โดยจำนวนเงินขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ดังนี้

 

จ่ายสมทบไม่ถึง 12 เดือน : ได้เงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้าสมทบกรณีชราภาพ (ไม่ได้รับในส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบ) เช่น นายสมชายจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ มา 5 เดือน เดือนละ 750 บาท โดยนับเป็นเงินสมทบกรณีชราภาพ 450 บาท ต่อมานานสมชายเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 2,250 บาท (450 x 5 เดือน)

 

จ่ายสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป : ได้เงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่จ่ายเข้าสมทบกรณีชราภาพ ทั้งในส่วนที่ผู้ประกันตนจ่าย ส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบ รวมถึงผลตอบแทนจากกองทุนฯ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เช่น นางสมหญิงจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ มา 150 เดือน คิดเป็นเงินสมทบกรณีชราภาพ 900 บาทต่อเดือน (ส่วนของนางสมหญิง 450 บาทและของนายจ้างจ่ายสมทบอีก 450 บาท) ต่อมาสมหญิงเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 135,000 บาท (900 x 150 เดือน) พร้อมผลตอบแทนจากเงินสมทบอีก 150 เดือน

 

กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตหลังอายุ 55 ปี (หลังได้รับบำเหน็จหรือบำนาญจากกองทุนฯ)

เมื่อผู้ประกันตนเกษียณอายุ (เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ) และเสียชีวิตภายใน 60 เดือนนับตั้งแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนฯ จำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้ายที่ผู้ประกันตนได้รับก่อนเสียชีวิต

 

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิเงินบำนาญชราภาพ ก็ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ มาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน โดยได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ หากจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือนขึ้นไป อัตราเงินบำนาญชราภาพจะเพิ่มขึ้นนอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก 12 เดือน

 

เช่น นายสมปองจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ มาแล้ว 180 เดือน โดยค่าจ้างเฉลลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอยู่ที่ 15,000 บาท เมื่อสมปองเกษียณอายุ (55 ปี) และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน สมปองจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ 3,000 บาทต่อเดือน (20% x 15,000) ต่อมาสมปองเสียชีวิต ทายาทก็จะได้รับเงินทดแทนเป็นบำเหน็จชราภาพจำนวน 30,000 บาท (10 เท่าของเงินบำนาญเดือนสุดท้ายก่อนผู้ประกันตนเสียชีวิต)

 

เห็นไหมครับว่าการที่เราจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ใช่สิ่งสูญเปล่า เพราะนอกจากจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ต่างๆ แล้ว ครอบครัวของเรายังได้รับประโยชน์อีกด้วยนะครับ

 

Source : http://oknation.nationtv.tv/blog/K-Expert/2013/05/31/entry-1