วันพุธ, 11 ธันวาคม 2567

เจ้ากรรมนายเวร กับ การทำแท้ง

 

คำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” นี้ เป็นที่คุ้นหูในหมู่ชาวพุทธอยู่แล้ว แม้แต่ในวงการบันเทิง ก็ยังมีการนำบทประพันธ์มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ เพื่อให้เห็นถึงที่มาที่ไป และลักษณะของเจ้ากรรมนายเวรที่มีความแตกต่างกัน แต่เรื่องที่จะสามารถตรงใจจนเชื่อได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องทัศนคติและความเชื่อของแต่ละบุคคล ธ.ธรรมรักษ์ และ จิตตวชิระ ผู้เขียน ขอยกเอาบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่พระองค์ท่านได้ประพันธ์ไว้ในหนังสือ “อำนาจที่ยิ่งใหญ่แห่งกรรม” ที่มีบทอธิบายถึงเจ้ากรรมนายเวรว่ามีจริงหรือไม่ดังต่อไปนี้

 

อันกรรมไม่ดีนั้น มีคู่ที่มักจะใช้ด้วยกัน หรือมีความหมายไปในทางที่ไม่ดีคือคำว่า เจ้ากรรมนายเวร ผู้ที่มีสัมมาทิฐิ ย่อมไม่ปฏิเสธความเชื่อที่ว่า เจ้ากรรมนายเวรนั้น “มี” ไม่ใช่ “ไม่มี” เจ้ากรรมนายเวรนั้นคือ “ผู้ที่ถูกทำร้ายก่อนและผูกอาฆาตจองเวร” หากไม่มีการอาฆาตจองเวรก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรเขาย่อมเป็นผู้ไม่คิดร้าย ไม่ติดตามทำร้ายให้เป็นการตอบสนองหรือที่เรียกกันว่าแก้แค้น ผู้ที่มี สัมมาทิฐิ หรือมีความเห็นชอบ แม้จะมองไม่เห็นหน้าตาของเจ้ากรรมนายเวร แต่ก็ย่อมไม่ประมาท ย่อมไม่เห็นเป็นความเหลวไหลไม่มีเหตุผล เหตุที่เรามีเจ้ากรรมนายเวรก็เพราะเราต่างก็มีภพชาติมานับไม่ถ้วนในอดีต ต่างก็ทำกรรมดีและไม่ดีเอาไว้นับไม่ถ้วน ในภพชาติทั้งหลายนั้น ทำให้เกิดเจ้ากรรมนายเวรที่ได้ไปล่วงเกิน เบียดเบียน ทำร้ายไว้ ก็ย่อมมีไม่น้อยเช่นกัน

 

ทำนองเดียวกันกับผู้ที่เป็นบิดามารดา บุพการี หรือผู้มีพระคุณก็ต้องมีมากมาย แม้ชาตินี้ไม่อาจจะล่วงรู้ได้ว่าเป็นใครต่อใครบ้าง แต่ก็จงพึงยอมรับว่า เจ้ากรรมนายเวรมีอยู่จริง ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและผู้มีพระคุณนั้น เมื่อจะทำการขอโทษท่านก็ต้องพึงกระทำเช่นเดียวกับการที่เราจะตอบแทนบุญคุณของผู้มีพระคุณ คือการทำบุญทำกุศลด้วยความตั้งใจจริงที่จะอุทิศให้ท่าน แล้วก็ตั้งใจจริงที่จะบอกกล่าวให้รับรู้ ให้ยอมรับในเจตนาอันจริงใจที่จะขอโทษและตอบแทนบุญคุณ

 

การตอบแทนและการบอกกล่าวด้วยความจริงใจเช่นนี้ ต่อให้ผู้ที่ไม่มีตัวตนปรากฏให้เห็น ซึ่งสิ่งนั้นเราไม่เรียกว่า ความหลง ไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผล แต่เป็นการปฏิบัติตนที่ถูกต้องและได้ผลอาจนำมาให้หลุดพ้นจากกรรมไม่ดีที่ตามอยู่ได้ จากบทนิพนธ์อธิบายนี้ คงจะทำให้ทุกท่านพอมองภาพออกแล้วว่าเจ้ากรรมนายเวรคืออะไร ซึ่งจะขออนุญาตสรุปและจำแนกทั้งความหมายรวมไปถึงลักษณะของเจ้ากรรมนายเวรให้ทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ตามหลักของครูบาอาจารย์ตั้งแต่ครั้งโบราณอาการให้รับทราบดังนี้

 

เจ้ากรรมนายเวรนั้นหมายถึง ผู้ที่ถูกเราทำร้ายไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ป่าสัตว์ชนิดใด ซึ่งคนนั้นอยู่ในประเภทเดียวกับสัตว์ด้วย และผู้ที่ถูกทำร้ายเขามีจิตที่อาฆาตต่อเรา และต้องการให้เราได้ชดใช้ผลกรรมที่เราเคยทำกับเขาไว้ การเกิดขึ้นของเจ้ากรรมนายเวรนั้น เกิดขึ้นเพราะมีการเวียนว่าย ตายเกิดของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงที่ยังไม่พ้นทุกข์นี้ เราทุกคนนั้น ต่างก็เคยเกิดและตายมีภพชาติมานับไม่ถ้วนในอดีต ต่างก็ได้ทำทั้งกรรมดีและไม่ดีเอาไว้แบบนับไม่ถ้วนในภพชาติทั้งหลายนั้น รวมทั้งเจ้ากรรมนายเวรที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากเราได้ไปเบียดเบียนทำร้ายเขาไว้ก่อนไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

 

เจ้ากรรมนายเวรมี 2 ลักษณะคือ เจ้ากรรมนายเวรที่มองเห็นและเจ้ากรรมนายเวรที่มองไม่เห็น หรือบางตำราอาจจะเรียกแตกต่างกันไปว่า เจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิตและเจ้ากรรมนายเวรที่ไม่มีชีวิตก็ได้

 

เจ้ากรรมนายเวรที่มองเห็นหรือเจ้ากรรมนายเวรที่มีชีวิตนั้น มีความหมายว่า “อยู่ในภพภูมิเดียวกับเรา” เป็นผู้ที่มาสร้างความเดือดร้อนให้กับเราไม่ทางใดทางหนึ่ง อาจเป็นได้ทั้ง พ่อแม่ บุพการี ลูกหลาน ที่สร้างแต่ความทุกข์ใจและกายให้เกิดขึ้นกับเราโดยตลอด หรือเพื่อนฝูงคนรู้จักที่คอยมาเบียดเบียนทำร้ายให้สูญเสีย ให้บาดเจ็บในลักษณะต่างๆ หรืออาจเป็นสัตว์เดรัจฉานที่มีชีวิตแล้วเข้ามาทำร้ายเราให้ได้รับบาดเจ็บ ให้พิการหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ก็เป็นไปได้เช่นกัน

 

เจ้ากรรมนายเวรที่มองไม่เห็นหรือเจ้ากรรมนายเวรที่ไม่มีชีวิตนั้น มีความหมายว่า “เป็นผู้ที่อยู่ต่างภพภูมิกับเรา” หรืออมนุษย์ เป็นสิ่งที่มองด้วยตาเนื้อไม่เห็น แต่ก็เป็นผู้ที่มาสร้างความเดือดร้อนให้เราได้ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งวิธีการที่เขาจะก่อความเดือดร้อนให้เรานั้นอาจเป็นเรื่อง “เหลือวิสัย” ของมนุษย์ธรรมดาจะรับรู้ได้ ซึ่งถ้าไม่สามารถทำกับเราโดยตรงได้ เขาอาจจะใช้วิธีดลจิตดลใจให้เราเผลอกระทำความชั่วให้ได้รับความลำบากแห่งผลกรรมชั่ว สร้างอุปสรรคใดๆ ให้เกิดขึ้นอย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเราได้แต่ก็เกิดขึ้น ฯลฯ

 

และสุดท้ายคือ เรื่องการ “ขอโทษหรือขออภัยกับเจ้ากรรมนายเวร” จะทำการขอโทษเจ้ากรรมนายเวรเหล่านั้น ก็ต้องทำด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการที่เราจะตอบแทนบุญคุณของผู้มีพระคุณ คือการ “ทำบุญทำกุศล” ด้วย “ความตั้งใจจริงที่จะอุทิศให้” แล้วก็ “ตั้งใจจริงที่จะบอกกล่าวให้รับรู้” ให้เจ้ากรรมนายเวรเหล่านั้นยอมรับในเจตนาอันจริงใจที่จะขอโทษและตอบแทนเขา ด้วยคุณงามความดี ด้วยความสุขที่เราตั้งใจจะมอบให้อันเป็นผลเกิดขึ้นจากการสร้างบุญกุศลและคุณงามความดีเหล่านั้น

 

ยกตัวอย่างในเรื่องของการทำแท้ง เด็กที่ถูกทำแท้งหรือถูกฆ่าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ก็กลายเป็นเจ้ากรรมนายเวรของผู้ที่ทำแท้งไปเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่ไม่มีชีวิต หรือเจ้ากรรมนายเวรที่อยู่ต่างภพภูมินั้นเอง ดวงวิญญาณย่อมผูกจิตอาฆาตต่อผู้สร้างกรรมไว้ และเขาจะกระทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่ฆ่าเขา ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอนจนกว่าเขาจะให้อภัย และการที่เขาจะให้อภัยนั้น ก็คือต้องได้รับบุญกุศลที่ผู้ที่ทำแท้งนั้นได้ทำบุญอุทิศบุญไปให้และแสดงความจริงใจในการบอกกล่าวให้เขารับรู้

 

ในเรื่องของการให้อโหสิกรรมนั้น ล้วนอยู่กับเจ้ากรรมนายเวรทั้งสิ้น ว่าเขาจะให้อโหสิกรรมหรือไม่ ให้เป็นสิทธิ์ของเขา ไม่มีใครไปบังคับเขาได้ เพราะเขานั้นเป็นผู้ที่ถูกกระทำ เป็นผู้เสียหาย เป็นผู้ที่ตายเหมือนกับที่คนเรานั้นเป็นหนี้ เจ้าหนี้เขาจะยกหนี้ให้หรือไม่อยู่ที่เขาทั้งสิ้น โลกนี้ไม่มีสิทธิ์ไปคิดเองเออเองว่า เขาต้องยกโทษให้วันนี้หรือพรุ่งนี้ และคนที่ทำแท้งแม้จะปฏิบัติธรรม ทำบุญมาก และอุทิศไปให้เขาตลอดเวลา แต่ทำไมชีวิตยังไม่ดีขึ้นนั้น มีอยู่ 3 สาเหตุคือ

สาเหตุที่หนึ่ง เจ้ากรรมนายเวรเขายังไม่พอใจในสิ่งที่เราชดใช้หรือยังอาฆาตอยู่แรงมาก

สาเหตุที่สอง มีการทำแท้งหลายครั้งหลายหน ไม่ว่าเจ้ากรรมนายเวรรายหนึ่งจะยอม อาจจะมีเจ้ากรรมนายเวรเจ้าอื่นอีกที่เขายังไม่ยอมยกโทษให้

สาเหตุที่สาม อาจจะมีผลตามในเรื่องอื่นนั้นมาส่งผลรวมอยู่ด้วย แม้จะหมดกรรมในเรื่องการทำแท้งแล้วก็ตาม รวมถึงการประพฤติในปัจจุบัน ยังไม่ถึงขั้นซึ่งจะทำให้เกิดสุขได้ เช่น ยังขี้เกียจ ยังผิดศีล ยังไม่ทำเหตุและปัจจัยตรงกับผลที่อยากได้ อยากมี ซึ่งต้องพิจารณาไปทั้ง 3 อย่างประกอบกันด้วย

 

ซึ่งครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า การทำแท้งจะทำให้เด็กน้ำกลายเป็นดวงวิญญาณที่ต้องเร่ร่อนไปเกิดที่ไหนไม่ได้ เขาจะเกาะติดอยู่กับแม่ตลอดเวลา  เมื่อแม่เข้าบ้านเขาก็เข้าไปไม่ได้ เพราะเจ้าที่เจ้าทางเขาไม่อนุญาตให้เข้าไป ก็ต้องเกาะอยู่ตามรั้วหน้าบ้าน ตามต้นไม้บ้าง ตามเสาบ้าง รอให้แม่ออกมาให้เกาะใหม่ ซึ่งในระหว่างนั้น ก็อาจจะต้องเจอกับดวงวิญญาณที่เป็นสัมภเวสีเหมือนกันแต่เป็นผู้ใหญ่กว่า มารังแกหรือคอยทำร้ายเขา ซึ่งต้องมีจำนวนมากอยู่แล้วในสถานที่แห่งหนึ่งไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อเขาถูกแกล้ง ถูกทำร้าย และไม่มีโอกาสที่จะรับส่วนบุญได้เพราะอาจจะโดนวิญญาณอื่นแย่งไป เขาย่อมจะโกรธแค้นคนที่ทำให้เขาตายก็คือคนที่เป็นแม่เป็นอย่างมาก และรองลงมาก็คือพ่อหรือผู้ชายที่ทำให้เขาได้ปฏิสนธิ

 

ทั้งนี้รวมถึงหมอเถื่อนและไม่เถื่อน คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดที่เขาจะอาฆาตอย่างแรง และจะทำทุกวิถีทางให้คนเหล่านี้ต้องได้รับทุกข์เหมือนกับที่เขาได้รับอยู่ จนกว่าเขาจะคลายความโกรธความอาฆาตลง และเมื่อเขาได้รับสิ่งที่เขาพอใจซึ่งส่วนมากก็คือ บุญกุศลที่บริสุทธิ์ ความอาฆาตพยาบาทจึงคลายไปหรือดวงวิญญาณบางดวงก็ยังต้องการบางอย่างที่เป็นวัตถุทาน เช่น ข้าวปลาอาหาร นม ของเล่น เสื้อผ้า ซึ่งต้องทำให้ตรงกับจริตของเขา ดวงวิญญาณนั้นถึงจะพอใจและเลิกราไป แม้เวรนั้นระงับก็จริง แต่กรรมนั้นไม่ได้ระงับไปด้วย ก็ยังคงต้องส่งผลตามกรรมนั้น การที่จะทำให้ทุกข์น้อยลงหรือสุขมากขึ้น เจริญขึ้นก็ต้องเร่งสร้างบุญกุศลหนีกรรมชั่วนั้นไม่ให้ส่งผล

 

ที่มาและการอ้างอิง

เคล็ดแก้กรรมหนัก ที่มาจากลูก แบบทันตาเห็น โดย ธ.ธรรมรักษ์ และ จิตตวชิระ