วันอังคาร, 8 ตุลาคม 2567

ประวัติศาสตร์ จังหวัดสมุทสาคร

14 มิ.ย. 2017
3278

 

ประวัติศาสตร์จังหวัดสมุทรสาคร 

สมุทรสาครเป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

สมุทรสาครเดิมชื่อบ้านท่าจีนเป็นชุมนุมชนใหญ่ อยู่บริเวณอ่าวไทย มีทำเลที่เหมาะสมในการพาณิชย์มาก มีเรือสำเภาค้าขายจากประเทศจีนมาจอดเทียบท่าที่นี่ ขนถ่ายซื้อขายสินค้ากันจนเป็นที่รู้จักกันทั่ว ใครอยากจะค้าขายกับเรือสำเภาจีนก็ต้องมาที่นี่ มีชื่อเรียกกันติดปากมาแต่เดิมว่า “ท่าจีน” แต่ยังมิได้มีฐานะเป็นเมืองคงเป็นหมู่บ้านชุมชนแห่งหนึ่งเท่านั้น เมื่อครั้งสังฆราช ปาลเลกัวส์ เดินทางไปเยี่ยมพวกคริสตังชาวจีน ที่กระจัดกระจายอยู่ทางทิศตะวันออกได้กล่าวถึงท่าจีนว่า “…..เป็นเมืองสวยงามมีพลเมืองประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน ส่วนมากเป็นชาวประมง    และพ่อค้า       ที่ตั้งจังหวัดอยู่ห่างทะเล ๒ ลี้       เป็นทำเลเหมาะในการประมงและการพาณิชย์จึงมีสำเภาจีนมาติดต่อค้าขายอยู่เสมอ”

ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๙๑ – พ.ศ. ๒๑๑๑) แห่งกรุงศรีอยุธยาหลังสงครามเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พ.ศ. ๒๐๙๒ ได้ยกฐานะบ้านท่าจีนเป็นเมือง “สาครบุรี”    ตามแผนการเกณฑ์ชายฉกรรจ์ที่อยู่กระจัดกระจายตามหัวเมืองต่าง ๆได้อย่างรวดเร็ว ยามเมื่อเกิดศึกสงคราม ดังปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ หน้า ๖๐ ว่า “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชตรัสว่า ไพร่บ้านพลเมือง ตรี จัตวา ปากไต้เข้าพระนครครั้งนี้น้อย หนีออกอยู่ป่าดงห้วยเขาต้อนไม่ได้เป็นอันมาก ให้เอาบ้านท่าจีนตั้งเป็น สาครบุรี” และข้อความในพงศาวดาร ไทยรบพม่าว่า “…….เพื่อจะให้สะดวกแก่การเรียกหาผู้คนเวลาเกิดศึกสงคราม จึงให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่อีก ๓ เมือง    คือ ยกบ้านตลาดขวัญเป็นเมืองนนทบุรี  เมือง ๑ ยกบ้านท่าจีนเป็นเมืองสาครบุรีเมือง ๑ แบ่งเอาเขตเมืองราชบุรีกับเมืองสุพรรณบุรีมารวมกัน ตั้งเป็นเมืองนครไชยศรีขึ้นอีกเมือง ๑”

หลวงวิจิตรวาทการ ได้กล่าวไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์สากลเล่ม ๓ ว่า “หลังจากสงครามกับเขมร (พ.ศ. ๒๐๙๙)……..สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยังให้ตรวจบัญชีสำมะโนครัวราษฎร ได้จำนวนชายฉกรรจ์ในมณฑลราชธานีถึงแสนเศษ แล้วจัดระเบียบการระดมพลให้สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน ในการนี้ให้ตั้งเมืองชั้นในเพิ่มขึ้นหลายเมือง คือ ตั้งบ้านท่าจีนขึ้นเป็นเมืองสาครบุรี เมือง ๑……”

สรุปความตรงกันว่า บ้านท่าจีนได้ยกขึ้นเป็นเมืองสาครบุรี ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เพื่อสะดวกแก่การเรียกหาผู้คนเวลาเกิดศึกสงคราม และสะดวกแก่การปกครอง

ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้ยกเมืองสาครบุรีขึ้นกับกรมท่า ดังปรากฏในประชุมพงศาวดารว่า “…….แบ่งหัวเมือง ขึ้นกลาโหม มหาดไทย กรมท่า ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์……..ยังคงเมืองขึ้นกรมท่าอีก ๘ เมือง คือ เมืองนนทบุรี ๑ เมืองสมุทรปราการ ๑ เมืองสาครบุรี ๑…….”

ในรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๕๒ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์เป็นแม่ทัพยกไปปราบพม่าที่เมืองถลาง และเมืองชุมพร ในการเดินทัพทางเรือ ผ่านธนบุรี ท่าจีน แม่กลองบ้านแหลม และเพชรบุรี นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) ได้ตามเสด็จคราวนี้ด้วย และแต่งโคลงนิราศ

นริทร์ มีความตอนที่กล่าวถึง สมุทรสาคร ว่า

มหาชัยชัยฤกษ์น้อง   นาฏลง โรงฤา

รักร่วมพุทธมนต์สงฆ์   เสกซ้อม

เสียดเศียรแม่ทัดมง   คลคู่ เรียมเอย

ชเยศชุมญาติห้อม   มอบให้สองสม

ท่าจีนจีนจอดถ้า คอยถาม ใดฤา

จีนช่วยจำใจความ   ข่าวร้อน

เยียวมิ่งแม่มาตาม   เตือนเร่ง ราแม่

จงนุชรีบเรียมข้อน    เคร่าถ้า จีนคอย

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ปีมะแม พระยามหาเทพให้จมื่นทิพเสนา (เอี่ยม) ออกไปจับฝิ่นอ้ายจีนเผียว ซึ่งตั้งตนเป็นตั้วเหี่ยที่ลัดตรุด แขวงสาครบุรี มีการจับกุมหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ (๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๐) พระยามหาเทพไปกับพระสวัสดิวารีพร้อมกับเกณฑ์กรมการเมืองสาครบุรี และชาวบ้านไปช่วย เกิดการต่อสู้กันขึ้น พระยามหาเทพได้รับบาดเจ็บ อ้ายจีนเผียวตั้งใจจะหนีเข้าอังกฤษ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระยาพระคลังคุมพวกตำรวจในพระยามหาเทพกับกองรามัญไปตั้งที่สาครบุรี และมีหนังสือถึงผู้รักษาเมืองสมุทรสงคราม ราชบุรี ให้ตีสกัดจีนเผียวลงมา ในที่สุดสามารถจับจีนเผียวตั้วเหี่ยได้ที่ราชบุรี

ครั้งต่อมาในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อเมืองสาครบุรี เป็นเมือง สมุทรสาคร ดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ว่า “……เมืองขึ้นกรมท่าเรือเมืองนนทบุรีศรีมหาสมุทร แปลงเป็นเมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน เมืองสาครบุรีแปลงเป็นเมืองสมุทรสาคร เกาะกงให้ชื่อเมืองประจันตคีรีเขตต์รวม ๓ เมือง

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๘   ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมณฑลนครไชยศรี มีเมืองปกครอง ๓ เมือง คือ นครชัยศรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร

เมืองสมุทรสาคร เดิมมีอำเภอขึ้นอยู่ในความปกครอง รวม ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมืองสาคร อำเภอบางโทรัด อำเภอกระทุมแบน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอบางโทรัด เป็นอำเภอ “บ้านบ่อ” ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอ เพราะอำเภอบางโทรัด ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านบ่อ

พ.ศ. ๒๔๕๖ เปลี่ยนชื่อเมืองนครชัยศรี เป็น เมืองนครปฐม

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” ทั่วทุกแห่งในพระราชอาณาจักร เมืองสมุทรสาครจึงเปลี่ยนเป็น “จังหวัดสมุทรสาคร” มาจนทุกวันนี้

ต่อมาได้มีแจ้งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ว่า ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า อำเภอบ้านบ่อ จังหวัดสมุทรสาคร มณฑลนครชัยศรี ซึ่งตั้งที่ว่าการอำเภอบ้านบ่อ แต่เดิมเป็นตำบลลับ เวลานี้การไปมาค้าขายของราษฎร ได้ไปประชุมกันอยู่ทางคลองดำเนินสะดวก ตำบลบ้านแพ้ว จึงเป็นตำบลที่สำคัญอย่างยิ่ง และทั้งตำบลบ้านบ่อกับตำบลที่ใกล้เคียง ราษฎรจะไปมาติดต่อกับอำเภอเมืองสมุทรสาคร สะดวก เพราะมีรถไฟไปมาได้ในวันเดียว   อีกประการหนึ่งท้องถิ่นที่อำเภอสามพรานมาขึ้นได้อีกหลายตำบล สะดวกแก่การปกครองขึ้นอีก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมท้องที่ตำบลต่างๆ คือ แยกเอาตำบลดอนไผ่ ๑ ตำบลบ้านแพ้ว ๑ ตำบลเจ็ดริ้ว ๑ ตำบลคลองตัน ๑ จากอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมรวม ๔ แห่ง แบ่งออกตำบลอำแพงของอำเภอเมืองสมุทรสาคร ๑ ตำบล รวมกับตำบลโรงเข้และตำบลหลักสาม ของอำเภอบ้านบ่อ รวม ๗ ตำบลด้วยกัน เป็นอำเภอหนึ่ง ตั้งที่ว่าการที่ตำบลบ้านแพ้ว เรียกว่าอำเภอบ้านแพ้วขึ้นจังหวัดสมุทรสาคร

ส่วนอำเภอบ้านบ่อเก่า ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านบ่อนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกับตำบลบางกระเจ้า ๑ ตำบลบางโทรัด ๑ ตำบลกาหลง ๑ ตำบลนาโคก ๑ เข้ากับตำบลบ้านบ่อเป็น ๕ ตำบลด้วยกัน ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า “กิ่งอำเภอบ้านบ่อ” ขึ้นกับอำเภอเมืองสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘   เป็นต้นไป จังหวัดสมุทรสาคร มีอำเภอและกิ่งอำเภอขึ้นอยู่ในปกครอง ๓ อำเภอ กับ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอบ้านแพ้ว และกิ่งอำเภอบ้านบ่อ ขึ้นกับอำเภอเมือง

เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรีได้ไปตรวจราชการที่กิ่งอำเภอบ้านบ่อ เห็นการงานแผนกมหาดไทย แผนกอัยการ มีน้อย ส่วนแผนกสรรพากรมีมาก เห็นว่าควรรวมการงานแผนกมหาดไทยและแผนกอัยการกับอำเภอเมืองสมุทรสาคร มณฑลนครชัยศรีจึงได้คำสั่งที่ ๑๗๓/๘๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ให้สั่งปลัดกิ่งอำเภอบ้านบ่อ และเสมียนพนักงานขนสรรพราชการทั้งปวงในแผนกมหาดไทย และแผนกอัยการมารวมทำการอยู่ที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ส่วนกิ่งอำเภอนั้น ให้มีเจ้าพนักงานสรรพากร ๒ คน ตรวจเก็บภาษีอากรด่านและประจำที่ไปตามเดิม ตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งนี้เป็นต้นไป

ต่อมาสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรี ได้มีคำสั่งที่ ๑๕๗๘/๑๙๒๓๙ ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครว่า เนื่องจากทางราชการได้แบ่งตำบลในท้องที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม กับตำบลในท้องที่อำเภอกระทุ่มแบน อำเภอเมืองสมุทรสาคร กิ่งอำเภอบ้านบ่อ จังหวัดสมุทสาครไปตั้งเป็นอำเภอบ้านแพ้วขึ้นในจังหวัดสมุทรสาครเสียแล้วนั้น กิ่งอำเภอบ้านบ่อคงเหลือเพียง ๕ ตำบล ต่อมาราชการสำหรับกิ่งอำเภอบ้านบ่อน้อยลง ตลอดทั้งการไปมาระหว่างอำเภอเมืองสมุทรสาครกับกิ่งอำเภอบ้านบ่อสะดวกขึ้น มณฑลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีกิ่งอำเภอบ้านบ่ออีกต่อไป จึงได้ขออนุญาตยุบกิ่งอำเภอบ้านบ่อกับยกราชการและย้ายปลัดกิ่งอำเภอและเสมียนพนักงานไปรวมทำที่อำเภอเมืองสมุทรสาครเข้าไปยังกระทรวงมหาดไทย และได้รับท้องตราพระราชสีห์น้อย ที่ ๔๐๐/๑๔๔๐๗ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ อนุญาตให้ยุบกิ่งอำเภอนั้นแล้วและให้จัดการแก้ทำเนียบท้องที่เสียให้ถูกต้อง

ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นไป จังหวัดสมุทรสาครมีอำเภอขึ้นอยู่ในความปกครองรวม ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้วส่วนกิ่งอำเภอบ้านบ่อยุบไปขึ้นกับอำเภอเมืองสมุทรสาคร

ครั้นเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ทางราชการได้ยุบจังหวัดสมุทรสาครไปรวมกับจังหวัดธนบุรี อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว จึงต้องไปขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดธนบุรี   และอำเภอเมืองสมุทรสาครจึงต้องเปลี่ยนชื่อ    เป็น “อำเภอสมุทรสาคร”

ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ทางราชการได้แยกการปกครองท้องที่ของจังหวัดสมุทรสาครเดิมออกจากจังหวัดธนบุรี และยกฐานะเป็นจังหวัดขึ้นใหม่เรียกว่า จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอบ้านแพ้ว จึงได้มาขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอสมุทรสาครก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองสมุทรสาครตามเดิม

ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ ๘ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์มาเพื่อเยี่ยมทุกข์สุขของราษฎรนับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ชาวจังหวัดสมุทรสาครปลาบปลื้มปิติเป็นอันมาก

ประชาชนนิยมเรียก จังหวัดสมุทรสาครว่า “มหาชัย” ตามชื่อคลองมหาชัย ซึ่งเป็นคลองที่ขุดในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘  (พระเจ้าเสือ)   แห่งกรุงศรีอยุธยา  เพื่อตัดความคดเคี้ยวของคลองโคกขาม   แต่เดิมเริ่มต้นจากคลองด่าน วัดหัวหมู  เขตเมืองธนบุรี  จนถึงคลองโคกขาม เรียกว่า “คลองพระพุทธเจ้าหลวง” แต่ยังไม่ทันเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน

“สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๙  (ขุนหลวงท้ายสระ) เสด็จพระราชดำเนินทรงเบ็ดที่ปากน้ำท่าจีน เมื่อถึงคลองมหาชัย เห็นคลองนั้นขุดไม่แล้วค้างอยู่ ครั้นทรงเบ็ดแล้วกลับคืนมาถึงพระนครจึงทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้พระราชสงครามเป็นนายกองให้กะเกณฑ์คนหัวเมืองปักษ์ใต้ ๘ หัวเมือง …….ไปขุดคลองมหาชัย จึงให้ฝรั่งส่องกล้องดูให้ตรงปากคลอง ปักกรุยลงเป็นสำคัญทางไกล ๓๔๐ เส้น ได้ขุดคลองลึก ๖ ศอก กว้าง ๗ ศอก ขุด ๒ เดือนจึงแล้วเสร็จ ….คลองนั้นได้ชื่อว่า “คลองมหาชัย” ตราบเท่าทุกวันนี้” ต่อมาตัวเมืองเจริญเติบโตขึ้น ณ ริมฝั่งซ้ายของคลองมหาชัย ชื่อมหาชัยจึงกลายเป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกอีกชื่อหนึ่ง

 

 

การจัดตั้งการสุขาภิบาลท่าฉลอม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการปฏิรูประเบียบวิธีบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์ได้ทรงมีพระราชประสงค์อันแรงกล้าที่จะจัดให้มีข้อบัญญัติเกี่ยวกับพระบรมราชานุภาพของพระมหากษัตริย์ของประเทศเช่นที่อารยประเทศได้ถือปฏิบัติและทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนพลเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศเพื่อช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญลุล่วงตามทัศนคติใหม่ของระบอบการปกครองในประเทศตะวันตก ในระยะแรกพระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเปลี่ยนแปลง ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และกำนันเป็นผู้ได้รับเลือกมาจากประชาชนในท้องถิ่น แทนที่ทางรัฐบาลจะเป็นผู้แต่งตั้งดังเช่นในสมัยก่อน

ครั้นเมื่อกระทรวงมหาดไทยนำพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ ออกใช้ ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ได้มีบทบัญญัติกล่าวถึงการนคราภิบาลไว้ด้วย ใน ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มให้มีการจัดการบำรุงท้องถิ่นแบบสุขาภิบาลขึ้นในกรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้นับว่ามีอิทธิพลสืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีโอกาสไปดูกิจการต่างๆ ในทวีปยุโรป อย่างไรก็ตามความเจริญของประเทศและลักษณะปกครองของไทยยังผิดกันกับประเทศต่างๆ เหล่านั้น  ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของล้นเกล้าฯ  รัชกาลที่ ๕ ที่ว่า “…ประเทศอื่น ๆ ราษฎรเป็นผู้ขอให้ทำ เจ้าแผ่นดินจำใจทำในเมืองเรานี้เป็นแต่พระเจ้าแผ่นดินคิดเห็นว่าควรจะทำ เพราะจะเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองและความเป็นสุขแก่ราษฎรทั่วไป จึงได้คิดทำ เป็นการผิดกันตรงกันข้าม….”

สมเด็จฯ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในราชการและเป็น ผู้รักษาการตามกฎหมายสำหรับหัวเมืองในส่วนภูมิภาค      ก็ได้ทรงดำริที่จะดำเนินการตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อยมา การสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ได้เริ่มงานมาหลายปีแต่การจัดตั้งการสุขาภิบาลหัวเมืองยังไม่สามารถจะทำได้ เพราะเสด็จในกรมทรงเห็นว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะรับ พระองค์ทรงต้องการที่จะให้ประชาชนมีความเข้าใจและเห็นคุณประโยชน์ของการสุขาภิบาลนี้เสียก่อน การรอจังหวะที่ดีกินเวลาอีกหลายปี จนกระทั่งถึง ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงเริ่มงานจัดตั้งสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทรงเลือกเอาวิธีการสุขาภิบาลมาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปรับปรุงท้องถิ่นในตำบลท่าฉลอม ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเป็นที่สกปรกรกรุงรังจนไม่เป็นที่สบพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้มีหนังสือตราพระราชสีห์น้อย ที่ ๒๐/๓๙๙๐ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๔ ถึงพระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร มีความตอนหนึ่งว่า “ด้วยเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกที่ประชุมเสนาบดี มีรับสั่งเล่าถึงที่ได้ไปประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยที่ได้ทอดพระเนตรเห็นถนน และตลาดเมืองนครเขื่อนขันธ์โสโครกมาก รับสั่งว่าสกปรกเหมือนตลาดท่าจีน ฉันนั่งอยู่ที่ประชุมรู้สึกละอายใจมาก ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์จะสกปรกหรือสะอาดก็ไม่ใช่ธุระของเรา แต่ความสกปรกของตลาดท่าจีนซึ่งสกปรกจริงสำหรับเป็นที่ยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่อื่นที่ไม่พอพระราชหฤทัยเช่นนี้ ก็เสมอกริ้วตลาดท่าจีนด้วยเหมือนกัน การเป็นเช่นนี้จึงรู้สึกร้อนใจมาก  เห็นว่า  ถ้าไม่คิดอ่านปัดกวาดจัดถนนในตลาดท่าจีนให้หายโสโครกแล้วจะเสียชื่อตั้งแต่ฉันตลอดจนผู้ว่าราชการเมืองและกำนันผู้ใหญ่บ้านในตลาดท่าจีน ซึ่งเป็นคนดี ๆที่ฉันรู้จักอยู่แทบทุกคน ถ้าตลาดท่าจีนยังสกปรกอยู่อย่างนี้ แม้ปีนี้เสด็จอีกก็เห็นจะไม่เสด็จตลาดและจะให้กำนันผู้ใหญ่บ้านในที่นั้นเฝ้าก็เห็นไม่ได้  ฉันมีความร้อนใจอย่างนี้ จึงได้มีตราฉบับนี้มายังพระยาพิไชยสุนทร เมื่อได้รับตราฉบับนี้แล้วขอให้เรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ตลาดท่าจีนมาประชุมอ่านตราฉบับนี้ให้ฟังและปรึกษากันดูว่าจะควรทำอย่างไร อย่าให้พระเจ้าอยู่หัวทรงติเตียนได้”

เมื่อได้รับหนังสือตราพระราชสีห์น้อยฉบับนี้ ปรากฎว่าพระยาพิไชยสุนทรได้เรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลท่าฉลอมทั้งหมด   เพื่อให้ทราบข้อบกพร่องและช่วยกันคิดอ่านแก้ไขในการที่ถูกติเตียนเช่นนี้      ในที่สุดผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาครทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ชักชวนให้ประชาชนและพ่อค้าในตำบลท่าฉลอมร่วมมือช่วยกันสละเงินได้แก่การเรี่ยไร เพื่อนำมาปรับปรุงตลาดท่าจีนให้สะอาด ได้เงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๕,๔๗๒ บาท โดยได้นำเงินจำนวนที่ได้มาทำเป็นถนนปูอิฐขนาดกว้าง ๒ วา ได้ยาวถึง ๑๑ เส้น ๑๔ วา อีกทั้งจ้างคนปัดกวาดเทขยะมูลฝอยทิ้งจนตลาดท่าจีนสะอาดสมความปรารถนา

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีความยินดีเป็นอันมาก พระองค์ทรงรายงานทูลเกล้าถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ให้ทรงทราบถึงความร่วมมือร่วมใจของประชาชนชาวท้องถิ่นในตลาดท่าฉลอมในการสละเงินทองปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญขึ้นและในขณะเดียวกันเสด็จในกรมก็ได้ทรงเห็นเป็นโอกาสอันงามที่จะเริ่มงานสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้นที่ตำบลท่าฉลอมเป็นแห่งแรกเสียเลย เพราะสิ่งที่ดำเนินการไปนั้น ยังต้องมีการบำรุงและเสริมสร้างกันต่อไปอีก จึงทรงเสนอต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกันนั้นก็ขอพระบรมราชานุญาตแก้ไข “ภาษีโรงร้าน” เพื่อจัดสมทบเป็นรายได้แก่สุขาภิบาลที่ตั้งขึ้น หน้าที่โดยย่อ ๓ ประการของสุขาภิบาลที่เสด็จในกรมทรงเสนอไว้แต่แรก คือ

(๑) ซ่อมแซมรักษาถนนหนทาง

(๒) จุดโคมไฟให้มีแสงสว่างในเวลาค่ำคืนเป็นระยะตลอดถนนในตำบลนั้น และ

(๓) ให้จ้างลูกจ้างสำหรับกวาดขนขยะมูลฝอยของโสโครกต่าง ๆ ในตำบลนั้นไปทิ้งเสียที่อื่น

กระทรวงมหาดไทยได้ส่งพระยาจ่าแสนยบดี เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายพลำภังไปประชุมปรึกษาหารือกับผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร กำนันผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้าและราษฎรในบ้านตลาดท่าฉลอมในการจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอมและปรึกษาขอความคิดเห็นในการปรับปรุงภาษีโรงร้าน  และการใช้จ่ายเงินเพื่อการสุขาภิบาล ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนในท้องที่ในครั้งนั้นเป็นอย่างดี

เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ของพระราชประสงค์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในด้านการสุขาภิบาล พระองค์จึงเสด็จไปทอดพระเนตรและไปเป็นเกียรติอันปวงชนควรจะได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในการเปิดถนนที่ราษฎรตำบลท่าฉลอมออกเงินสร้างสำเร็จซึ่งมีชื่อว่า “ถนนถวาย”  เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๔     นับว่าเป็นการเริ่มงานสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้นเป็นแห่งแรกด้วย

 

คณะกรรมการสุขาภิบาลท่าฉลอมชุดแรกที่ได้ตั้งขึ้นประกอบด้วยสมาชิกดังนี้ คือ

(๑) หลวงพัฒนการภักดี     กำนันตำบลท่าฉลอม

(๒) ขุนพิจารณ์นรกิจ

(๓) ขุนพินิจนรภาร

(๔) จีนพัก

(๕) จีนศุข

(๖) จีนเน่า

(๗) จีนอู๊ด

(๘) จีนโป๊ ผู้ใหญ่บ้าน

 

การบริหารงานสุขาภิบาลท่าฉลอมในระยะต่อมาเป็นไปอย่างเรียบร้อยดี    เพราะปรากฎว่าการเก็บภาษีโรงร้านในตลาดท่าฉลอมได้เก็บตลอดทุกบ้านเรือนทั้งที่ทำการค้าขายหรือมิได้ค้าขาย  และไม่ว่าในบังคับใดๆ   ย่อมเสียให้โดยไม่เกี่ยงงอน การจ่ายเงินของคณะกรรมการสุขาภิบาลก็จ่ายโดยเขม็ดแขม่ ด้วยความรู้สึกเสียดายเงินและมีบัญชีโฆษณาให้คนทั้งหลายทราบเสมอทุกเดือนว่าเก็บเงินได้เท่าใดจ่ายใช้ไปเท่าใด คงเหลือเป็นเงินเท่าใด เป็นต้น สมพระเจตจำนงอันรอบคอบของสมเด็จเสนาบดีทุกประการ

เสด็จในกรมทรงอธิบายถึงการจัดตั้งการสุขาภิบาลท่าฉลอมเป็นตัวอย่างแก่ที่ประชุมว่าเป็นวิธีที่จัดให้กำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลนั้นเป็นผู้ใช้จ่ายเงินเอง ผู้ว่าราชการเมืองมีหน้าที่แต่เพียงแนะนำตรวจตราให้การเป็นไปตามพระราชประสงค์เท่านั้น พระองค์ได้ทรงแนะนำให้ข้าหลวงเทศาภิบาลไปจัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งการสุขาภิบาลขึ้นเป็นการทดลองในท้องที่ ๆ มีความจำเป็นและสมควรที่จะจัดก่อน แต่การจัดตั้งการสุขาภิบาลนี้เสด็จในกรมทรงดำริให้ “เกิดจากความนิยมของราษฎรก่อน คือให้ราษฎรนำน่า และรัฐบาลตามหลัง” ทั้งนี้ เพื่อให้การสำเร็จไปด้วยความชมชอบของประชากร

 

แผนที่ท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสาคร

 

 

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสมุทรสาคร.กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๖.
ที่มาภาพ : http://sakhoncity.go.th