วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

ลูกคนเดียว จักรพรรดิน้อยแต่ใหญ่สุดในบ้าน เลี้ยงอย่างไรให้เป็นเด็กดี

07 ส.ค. 2017
3026

การที่เด็กเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ของครอบครัวนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เราได้ทราบถึงสาเหตุและบุคลิกภาพทางอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กที่มีปัญหาได้ ลำดับที่ของเด็กในหมู่พี่น้องอาจมีผลกระทบต่อแบบแผนการเลี้ยงดูแล้วกลุ่มของพ่อแม่ได้ที่มักจะพบเห็นก็คือ

  • ลูกคนแรกมักจะถูกพ่อแม่ตามใจและเอาใจมากแต่เมื่อพ่อแม่มีลูกคนที่ 2 มักจะมีปัญหาให้อิจฉาน้องหรือถูกเข้มงวดมากขึ้นทำให้เด็กหากเกิดปัญหาก้าวร้าวขี้อิจฉาขึ้นมาได้
  • ลูกคนกลางมากรู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้งหรือรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักไม่เอาใจใส่เท่าพี่หรือน้องมีปมด้อยไม่มั่นใจในตนเอง
  • ลูกคนสุดท้องพ่อแม่มาจะตามใจผ่อนปรนมากกว่าคนอื่นๆ ทำให้เอาแต่ใจตัวเองไม่ค่อยรับผิดชอบ

และถ้าเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวมักจะถูกตามใจมากจากคนรอบด้าน เรื่องได้รับความรักอย่างเหลือเฟือจนเอาแต่ใจตัวเองต้องการอะไรก็จะเอาให้ได้และเข้ากับคนอื่นยาก

 

 

ในปัจจุบันครอบครัวที่มีฐานะปานกลางหรือที่พ่อแม่มีการศึกษาสูง มีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลง ทั้งนี้จากสภาพการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวในยุคใหม่และทัศนคติบางประการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมกล่าวคือ

  1. ในปัจจุบันเปลี่ยนจากครอบครัวขยาย ซึ่งมีปู่ย่าตายายญาติพี่น้องอยู่รวมกันหลายๆคน เปลี่ยนมาเป็นครอบครัวเดี่ยว ซึ่งมีเพียงพ่อแม่ลูก การมีลูกจึงเป็นภาระที่พ่อแม่จะต้องเลี้ยงดูรับผิดชอบเองทั้งหมดโดยไม่มีญาติผู้ใหญ่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระดังแต่ก่อน
  2. สภาพเศรษฐกิจทำให้ทั้งสามีและภรรยาต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่ การมีลูกหมายถึงรายจ่ายจำนวนมาก พ่อแม่จึงต้องมีความพร้อมในด้านเศรษฐกิจด้วย คู่สมรสในปัจจุบันมักคำนึงถึงความพร้อมในด้านเศรษฐกิจในการมีลูกเพิ่มขึ้นแต่ละคน
  3. ทัศนคติและวิถีชีวิตของผู้หญิงซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากคือมีการศึกษาสูงและมีบทบาทในการทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้สำหรับครอบครัวด้วย ทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มแต่งงานช้าลงและภายหลังแต่งงานแล้วก็มักจะต้องคิดอย่างรอบคอบในการมีลูก โดยคำนึงถึงความพร้อมทางร่างกายจิตใจเศรษฐกิจและความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเอง หากมีภาระที่จะต้องเลี้ยงดูลูก

 

 

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มของผู้หญิงในสังคมสมัยใหม่โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ที่ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะไม่แต่งงานหรือแต่งงานแล้วไม่ต้องการมีบุตร เพราะต้องการความมีอิสระในการดำเนินชีวิตและต้องการใช้ความสามารถในการทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่มีอุปสรรคด้านครอบครัว ดังจะพบว่าบางประเทศในยุโรป เช่น เยอรมันตะวันตก ฟินแลนด์ มีปัญหาว่าอัตราการเกิดของประชากรต่ำจนมีประชากรที่อยู่ในวัยเด็กน้อยลง กระทั่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องหาการแก้ไขด้วยการกระตุ้นและส่งเสริมให้ครอบครัวมีบุตรและมีบุตรมากกว่า 1 คน

 

อันที่จริงนั้น ปัญหาการมีลูกคนเดียวเริ่มเป็นที่สนใจได้มีการพูดถึงมากขึ้น

เนื่องมาจากนโยบายของการมีลูกคนเดียวของประเทศจีน จำนวนประชากร 1,000 คนของจีนทำให้รัฐบาลได้ออกนโยบายให้ครอบครัวจีนยุคใหม่มีบุตรได้เพียงหนึ่งคน นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างแรงต่อสังคมจีนและต่อคุณภาพของเด็กจีนซึ่งเกิดมาในฐานะลูกคนเดียวของครอบครัว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบต่างๆของสังคมและปัญหาคุณภาพเด็กที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้

 

นอกจากจะมีผลกระทบทางสังคมจากการมีลูกคนเดียวแล้ว เรื่องที่เด็กจีนยุคใหม่อยู่ในฐานะลูกคนเดียวของครอบครัวได้ก่อให้เกิดปัญหาการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม และสร้างปัญหาต่อการพัฒนาการของเด็กและกระทบต่อคุณภาพเด็กด้วย เด็กจีนซึ่งเติบโตขึ้นมาในฐานะลูกคนเดียวตามนโยบายเดิมนั้น ในปัจจุบันมีจำนวน 32 ล้านคน สิ่งที่สังเกตเห็นได้โดยไม่ยากคือ เด็กเหล่านี้มันจะมีนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตนเองโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น เด็กส่วนใหญ่จะมีนิสัยเอาแต่ได้แล้วชอบออกคำสั่ง จนเกิดคำเปรียบเทียบว่า เด็กจีนที่เป็นลูกคนเดียวเป็นจักรพรรดิน้อย ประสบการณ์ดังกล่าวสร้างความมั่นใจให้กับทางการจีนไม่น้อยเพราะประชากรที่เอาแต่ได้ เห็นแก่ตัวและรักความสบายเอาแต่จะรับบริการอย่างเดียว ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน

 

เมื่อการวิเคราะห์หาสาเหตุของการที่เด็กจีนซึ่งเป็นลูกคนเดียวมีนิสัยเสียแล้วพบว่า มาจากการที่เด็กเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว โดยเฉพาะถ้าเป็นลูกชายซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นผู้สืบสายสกุล ทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวตั้งแต่พ่อแม่ปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาพากันมารุมให้ความรักแก่เด็กและแสดงออกในทางปฏิบัติด้วยการตามใจ

 

 

เด็กในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะลูกของคนชั้นกลางซึ่งมักจะมีลูกคนเดียวหรือสองคนจะมีปัญหาบางอย่างที่คล้ายๆกับเด็กจีน

คือ พ่อแม่มาตามใจมากด้วยวัตถุตามที่เด็กต้องการ สภาพความเป็นอยู่ในเมืองหรือตามหมู่บ้านจัดสรรซึ่งต่างคนต่างอยู่ แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่มีการพูดคุยติดต่อกัน ทำให้เด็กไม่มีเพื่อนเล่น แถมไม่มีเด็กอายุไล่เลี่ยกันเป็นเพื่อนเล่นนั้น ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อบุคลิกลักษณะนิสัยของเด็ก คือนอกจากเด็กจะเหงาแล้ว ก็ยังขาดโอกาสที่จะปรับนิสัยอารมณ์ของตัวเองให้เข้ากับคนอื่นได้ ด้วยเหตุเพราะอยู่แต่กับผู้ใหญ่ที่มักจะตามใจเด็กผ่อนปรนให้กับเด็กเสมอ ทำให้เด็กเคยชินที่จะเป็นฝ่ายรับแต่เพียงข้างเดียว ผู้ใหญ่เองมักจะมีความเชื่อว่าหากเด็กได้รับความรักมากๆแล้วเด็กก็จะรักคนอื่นบ้าง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเด็กที่เคยตัวแต่การได้รับโดยไม่เคยเรียนรู้กันให้บ้างเลยนั้น เขาจะไม่รู้จักการให้การเสียสละหรือการร่วมมือกับผู้อื่น

 

ในทางตรงกันข้าม หากเด็กได้มีโอกาสเล่นกับเด็กด้วยกันจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะเด็กจะเรียนรู้การปรับตัวและพบวิธีการเข้ากับคนอื่นได้ เนื่องจากเด็กด้วยกันจะไม่มีการตามใจกัน เด็กที่เล่นเป็นกลุ่มจะต้องเคารพกติกาส่วนรวม บ้างครั้งอาจจะมีการทะเลาะกันบ้างแย่งของกันบ้างก็เพียงประเดี๋ยวประด๋าวเด็กก็จะคืนดีกันเองอย่างรวดเร็วหากไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปยุ่ง เด็กเล่นเรียนรู้ถึงการให้และการรับและการเข้าสังคมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลิกและพฤติกรรมของเด็กอย่างสำคัญ

 

ในปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละ 1 ล้านคน แนวโน้มการมีลูกน้อยลงหรือมักจะมีลูกคนเดียวของครอบครัวในระดับกลางในบ้านเราเป็นตัวอย่างของจักรพรรดิน้อย น่าจะทำให้ครอบครัวที่มีลูกอยู่เพียงคนเดียวหรือวางแผนครอบครัวไว้ว่าจะมีลูกคนเดียวได้ให้ความสนใจและใส่ใจเป็นพิเศษในเรื่องการเลี้ยงดูและอบรมเด็กเพื่อมิให้เกิดปัญหาแก่เด็กและการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมของผู้ใหญ่

 

ที่มาและการอ้างอิง

รศ.นพ.อัมพล สูอำพัน. ลูกคนเดียว เลี้ยงอย่างไรไม่เป็นปัญหา (หน้า 1-5) .กรุงเทพฯ.บริษัท พับลิชชิ่ง จำกัด.2533