วันจันทร์, 7 ตุลาคม 2567

เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับโรคลมชัก Ep.15

โรคลมชัก (Epilepsy) เกิดจากความผิดปกติ ของการนำกระแสไฟฟ้าภายในสมอง มักจะเป็นพัก ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ และมีโอกาสเป็นซ้ำสูง ยกเว้นภาวะชักต่อเนื่อง (Status epilept icus)

แต่เดิม คนไทยเคยเรียกว่า “โรคลมบ้าหมู” แต่ปัจจุบัน ใช้คำว่า “โรคลมชัก” และในอนาคต มีแนวโน้มจะเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ว่า “โรคคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ” (Abnormal brain wave)

ที่เปลี่ยนชื่อ เนื่องจากอาการของโรคลมชัก ไม่จำเป็นต้องมีอาการชักเกร็ง หรือกระตุกของกล้ามเนื้อ อาการผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการเหม่อลอย อาจมีตาค้าง หรือตาเหลือก และเรียกไม่รู้สึกตัว

ดังนั้น การวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก อาจสร้างความเข้าใจผิดว่า ต้องมีอาการชักเกร็งกระตุกของร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ในแง่ของการเข้าสังคม รวมถึงการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้ป่วย

การวินิจฉัยและการสืบค้นในโรคลมชัก

(Diagnosis and lnve stigation) ผู้ป่วยจะต้องมีการชัก โดยไม่มีปัจจัยกระตุ้นมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป หรือชักครั้งแรก แต่มีโอกาสที่จะชักซ้ำสูง

ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการชักครั้งแรก จำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมินว่า จะมีโอกาสชักซ้ำมากเท่าใด รวมถึงหาสาเหตุ ที่ทำให้เกิดอาการชัก ซึ่งอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางระบบประสาท การตรวจเลือด การตรวจภาพวินิจฉัยสมอง (CT of MRI Brain)

ที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ส่วนการตรวจน้ำไขสันหลัง (CSF Analysis) จะทำเฉพาะบางกรณี เช่น สงสัยภาวะติดเชื้อในระบบประสาท

แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด กินอย่างไรให้สุขภาพดี Ep.34
แนะนำ : เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ : วิธีการดูแลอาการเข่าเสื่อมอย่างถูกวิธี Ep.35
แนะนำ : เกร็ดความรู้เรื่องสมุนไพรไทย : แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ช่วยขับลม Ep.36

สาเหตุที่พบได้บ่อย

(Common Etiology) คือแผลเป็น (Gliosis) ที่เกิดขึ้นบนผิวสมอง ซึ่งอาจเกิดจากโรคติดเชื้อภายในสมอง ภายหลังอุบัติเหตุทางสมอง ภายหลังจากเลือดออกในสมองหรือหลอดเลือดสมองตีบตัน เนื้องอกภายในสมอง

ภาวะชักซ้ำ ๆ หรือภาวะชักต่อเนื่อง สามารถพบในสมองเด็ก ที่กำลังเจริญเติบโต ที่เรียกว่ากลุ่มอาการโรคลมชักในเด็ก (Epilepsy syndrome) หรือแม้กระทั่งสมองของผู้สูงอายุ ที่มีรอยเหี่ยวย่นผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 10-20% ที่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติใด ๆภายในสมอง

การรักษาโรคลมชัก (Treatment) ประกอบด้วย

1.การรับประทานยากันชัก (Anti-epileptic drug)


2.การรักษาสาเหตุที่เฉพาะ และการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ การอดนอน การออกกำลังกายหักโหม ยาบางชนิด การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด ภาวะตึงเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ซึ่งถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ จะสามารถหายขาดจากโรคลมชักโดยประมาณ 60-70% เปอร์เซ็นต์

ส่วนกลุ่มที่เหลืออีก 30% จะเรียกว่า “ภาวะดื้อต่อยากันชัก” (Drug-resistant Epilepsy) ซึ่งปัจจุบันสามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัด (Epilepsy Surgery)

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดรักษาโรคลมชัก ยังมีอีกหลายวิธี ซึ่งมีความจำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละรายไป จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ที่ดูแลโรคลมชักเป็นหลัก

การดูแลผู้ป่วยขณะมีอาการชักหรือการปฐมพยาบาล (First Aid) ที่สำคัญคือ

  • ให้นำผู้ป่วยลงที่ต่ำ
  • ระวังอุบัติเหตุจากการกระแทกของแข็ง
  • นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก
  • ห้ามใส่อะไรเข้าไปในปากผู้ป่วยเด็ดขาด และต้องป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกตัว
  • ห้ามไปงัดหรือฝืนร่างกายผู้ป่วยขณะเกร็ง เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายผู้ป่วยมากขึ้น

โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะหยุดชักได้เองภายใน 1 ถึง 2 นาทีเท่านั้น

ในกรณีที่ไม่หยุดชักเอง หรือมีภาวะชักต่อเนื่อง ให้รีบส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงทันที เพราะต้องรีบให้ยาระงับชักโดยเร่งด่วน ส่วนตัวผู้ป่วยเอง ก็ต้องพึงระวังกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุอันตราย ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เช่นการขับรถ การว่ายน้ำ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าและที่สูง

ที่มา : HealthToday JUNE 2015

แนะนำ : เกร็ดความรู้สุขภาพพร้อมข้อคิด : 6 Tip ดูแลตัวเองและผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง Ep.37
แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด ข้อดี-ข้อเสียของการดื่มกาแฟ Ep.38
แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด : การดื่มน้ำผักผลไม้สด เพื่อให้ได้สารอาหาร Ep.39

เรื่องที่เกี่ยวข้อง