วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

เกร็ดความรู้เรื่องสมุนไพรไทย : แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ช่วยขับลม Ep.36

เวลาที่รู้สึกจุก เสียด แน่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มันช่างทรมานกายและใจเสียนี่กระไร แต่เรามีตัวช่วย ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ไม่ยาก

บางบ้านก็ปลูกเองกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กระชาย ขิง แห้วหมู กระพังโหม จันทน์เทศ  หรือ ตะไคร้ ซึ่งมีสรรพคุณเด่นมากในเรื่องของการ ขับลม เรียกความสดชื่น แต่ไม่เท่านั้นก็ยังมีสรรพคุณอื่น ๆ ร่วมด้วย ไปดูกันว่าแต่ละชนิดดีเด่นเด็ดดวงแค่ไหน

1.กระชาย เรียกกำลัง ขับลม

กระชายเป็นไม้ล้มลุก มีหัวอยู่ในดิน น้อยคนนักที่จะรู้ว่าต้นกระชายเป็นเช่นใด ถ้าไม่เห็นเหง้ากระชายที่เป็นแง่งๆ สีเหลือง

ต้นกระชายมีขนาดไม่ใหญ่มาก ลักษณะต้นคล้าย ๆ พืชจำพวกบอน คือ จะมีก้านใบแทงขึ้นมาจากดิน ใบขนาดใหญ่ ขึ้นเป็นกอ ที่ยอดกระชายจะมีก้านสีแดง ใบรูปรีปลายแหลม มีดอกสีขาวอมชมพูอ่อนๆ บ้างก็ม่วงอมชมพู ออกเป็นช่อแทรกอยู่ตามก้านใบ

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือ ส่วนที่เป็นเหง้าและราก ซึ่งจะมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

กระชายที่พบทั่วไปจะมีอยู่ 3 ชนิด แยกตามสีของราก คือกระชายดำ กระชายแดง และกระชายที่เราเห็นส่วนใหญ่ก็คือ กระชายเหลือง

กระชายโดยมากจะใช้เป็นสมุนไพรขับลม มีสรรพคุณแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ดี คลื่นไส้หรือเวียนศรีษะก็ช่วยได้อยู่เหมือนกัน มีรสเผ็ดร้อนและกลิ่นที่ดับคาวเนื้อสัตว์ได้

นิยมใช้เป็นเครื่องเทศปรุงแต่งรสอาหาร โดยเฉพาะจำพวกแกงเผ็ดหรือผัดเผ็ด ช่วยชูรสอาหารได้ดีเยี่ยม อีกทั้งยังเป็นยาได้โดยตรง

เพียงแค่นำเหง้ากระชายสด เอามาซอยเป็นเส้นเล็ก ๆ จะต้มกับน้ำหรือกินสดก็ได้ ช่วยขับลมในกระเพาะและลำไส้ได้ดี อีกทั้งยังกินเพื่อเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยบำรุงหัวใจได้ดีไม่แพ้โสม เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ

วิธีเข้าตัวยา

แก้ท้องเดินทั่วไป : นำเหง้ากระชายสด 1-2 แง่ง บุบพอแตก โดยไม่ต้องขูดเปลือก ผิงไฟให้แห้ง บดด้วยครก ผสมน้ำปูนใส ๑ ช้อนแกง กินวันละ ๔ ครั้ง

แก้ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ : นำเหง้าสด 2-3 แง่ง ขูดเปลือกออก ซอยให้ละเอียด ชงกับน้ำร้อน ๑ ถ้วยกาแฟ ดื่มหลังอาหาร หรือจะกินสดโดยไม่ต้องผสมน้ำร้อนก็ได้

บำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร : นำเหง้ากระชายสด ตากแดดให้แห้งสนิท แล้วบดให้เป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มเป็นประจำ

แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด เกี่ยวกับข้าวโอ๊ต สำหรับมื้อเช้า Ep.31
แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด เกี่ยวกับรูปร่างของคุณเสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง Ep.32
แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด เกี่ยวกับวิธีแก้โรคเบื่ออาหารในครอบครัว Ep.33

สรรพคุณเด่นของกระชาย

กระชายมีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนังได้ดี โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อรา กลากเกลื้อน รักษาได้ชะงัด เรียกว่าไม่ต้องถึงหมอ แค่กระชายแง่งเดียวก็เอาอยู่

โดยการนำเหง้ากระชายมาขูดเอาเปลือกออกบุบพอแตก แล้วเอามาขัดบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที แล้วค่อยอาบน้ำ ต้องทนแสบผิวสักนิดแต่ได้ผลดี

เหนืออื่นใด กระชายเป็นสมุนไพรเสริมกำลังกำหนัด และแก้กามตายด้าน ซึ่งมาจากสรรพคุณที่กินเพื่อเรียกกำลัง โดยใช้กระชายดำดองกับเหล้าขาว เวลาใช้ก็นำกระชายดำที่ดองแล้ว 2-3 แง่ง บดให้ละเอียดกับเหล้าขาวที่ใช้ดอง 1 ช้อนแกง กินเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย

2.ขิง ขับลม ขับเสมหะ แก้ไอ แก้ไข้หวัด

แม้ขิงกับกระชายจะเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่ต้นขิงจะมีลักษณะแตกต่างจากกระชายโดยสิ้นเชิง

เหง้าของกระชายจะเป็นแง่งเล็กๆ เป็นกระจุก แต่เหง้าขิงจะเป็นแง่งขนาดใหญ่ ลักษณะต้นขิงจะแทงก้านขึ้นไปตรง ๆ มีใบเรียวยาวปลายแหลมแทงออกมาด้านข้างของก้านสลับซ้ายขวา ออกดอกเป็นช่อปลายก้าน กลีบดอกสีเหลืองอมเขียว

ช่วงเหง้าขิงที่มีสรรพคุณทางยากำลังดี จะอยู่ประมาณ 8-10 เดือน ถ้าเห็นลำต้นขิงเป็นสีขาวเมื่อไหร่แสดงว่าแก่เต็มที่แล้ว ตัวยาจะมาก กลิ่นมีรสเผ็ดร้อนกำลังดี

ขิงเป็นสมุนไพรที่ใช้ง่าย มีสรรพคุณดี และยิ่งโดดเด่นมากขึ้น เมื่อไข้หวัด 2009 ระบาด เพราะกระทรวงสาธารณสุขออกมาประกาศว่า ขิงช่วยป้องกันไข้หวัด 2009 ได้ จนขิงแทบจะขาดตลาด โดยเฉพาะขิงผงสำเร็จรูปชงดื่ม ยิ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าจะดื่มเพื่อแก้หวัด ควรใช้เป็นขิงสด เนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก หั่นเป็นแว่นบาง ๆ หรือบุบพอแตก ต้มกับน้ำร้อน ดื่มแก้ไข้หวัดตัวเย็น หรือดื่มแก้หนาวดีนัก

สวนขิงผงสำเร็จรูป สรรพคุณจะด้อยกว่าเล็กน้อย แต่มีดีในเรื่องความสะดวก อีกทั้งเก็บไว้ได้นาน ช่วยให้กินขิงได้บ่อยขึ้น เพราะขิงให้กินบ่อยๆ จะดีต่อร่างกายมาก ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี หรือกินสดๆ เพื่อเป็นยาขับลม หรือยาช่วยให้เจริญอาหารก็ได้

วิธีเข้าตัวยา

แก้ไอ กัดเสมหะ : หั้นขิงออกเป็นแว่นบาง ๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท บดให้เป็นผง ใช้ 1 ช้อนชาชงกับน้ำร้อนผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ หรือจะผสมน้ำมะนาวเพิ่มเล็กน้อย เพื่อให้สรรพคุณดีขึ้น

แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ : ขิงแก่ขนาด 1 หัวแม่มือ ทุบพอแตกต้มกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ เคี่ยวให้เหลือครึ่งเดียว ดื่มหลังอาหาร ช่วยแก้ปัญหาอาหารไม่ย่อย แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้ดี สามารถแก้อาการคลื่นไส้หรือเมารถได้เช่นกัน

แก้ไข้ แก้หวัด : ขิงแก่ขนาด 1 หัวแม่มือ บุบพอแตก ต้มผสมน้ำตาลทรายแดง ใช้น้ำ 1 ถ้วยกาแฟ เคี่ยวให้เหลือครึ่งเดียว ดื่มเพื่อลดไข้ แต่ถ้ามีไข้ขึ้นสูงมาก ๆ ให้บดขิงจนละเอียด ต้มผสมน้ำตาลทรายแดง กรองเอาแต่น้ำดื่ม เพื่อลดไข้และขับเหงื่อ

สรรพคุณเด่นของขิง

ขิงมีสายพันธุ์ประมาณ 70 ชนิด เป็นพืชเขตร้อน นิยมนำมาแปรรูปได้หลายชนิด โดยเฉพาะการดอง ขิงดองจะมีสีชมพูอ่อน ใช้ทั้งแต่งสีและแต่งกลิ่น หรือนำไปตากแห้ง จะบดเป็นผงหรือไม่บดก็ได้

เวลาใช้จะชงกับน้ำร้อน ดื่มเพื่อเป็นยาขับลมและแก้หวัด สำหรับท่านที่มีปัญหาเรื่องอาหารการกินหรืออยู่ ๆ ก็เกิดอาการเบื่ออาหารขึ้นมาเฉย ๆ ส่วนมากจะเป็นช่วงที่มีความเครียดสูง

ให้ใช้ขิงแก่ขนาดหัวแม่มือ อังไฟจนสุก ตำผสมน้ำปูนใส คั้นเอาแต่น้ำ ผสมน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มก่อนอาหารประมาณ 30 นาที เพื่อเรียกน้ำย่อยช่วยให้เจริญอาหาร แก้เบื่ออาหารได้ดี

3.แห้วหมู ขับลม แก้จุกเสียด  

แห้วหมูเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง หรือจะเรียกว่าเป็นพืชล้มลุกประเภทหญ้าก็ได้ มีอายุหลายปี เป็นพืชที่มีหัวใต้ดิน พบเห็นได้ตามทั่วไป และมักจะขึ้นปะปนอยู่กับหญ้า

ลักษณะใบและลำต้นก็คล้าย ๆ กันจนแทบจะแยกไม่ออก แต่จะมีหัวขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน ส่วนหัวมีรสเผ็ดร้อนไม่เหมือนกับแห้ว ทำให้ไม่นิยมนำมากิน นอกจากจะใช้เพื่อเข้าเป็นตัวยาสมุนไพร มีสรรพคุณเป็นยาขับลม และแก้จุกเสียดแน่นท้องได้ดี

แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด กินอย่างไรให้สุขภาพดี Ep.34
แนะนำ : เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ : วิธีการดูแลอาการเข่าเสื่อมอย่างถูกวิธี Ep.35
แนะนำ : เกร็ดความรู้เรื่องสมุนไพรไทย : แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ช่วยขับลม Ep.36

วิธีเข้าตัวยา

ยาแก้ท้องอืด แก้จุกเสียด : ใช้หัวแห้วหมู 20-30 หัว บุบพอแตก ต้มกับน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวจนเหลือครึ่งเดียว กรองเอาแต่น้ำ แบ่งดื่มตลอดวันก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อ

ยาขับปัสสาวะ : ใช้หัวแห้วหมู 5-6 หัว ล้างน้ำให้สะอาด ขูดเอาเปลือกออก บดจนละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา กินเพื่อเป็นยาขับปัสสาวะ หรือกินเป็นยาแก้ท้องอืด แก้แน่นท้องได้เช่นกัน

สรรพคุณเด่นของแห้วหมู

แห้วหมูเป็นวัชพืชที่พบเห็นได้ง่าย หาไม่ยาก ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า มักจะขึ้นปะปนอยู่กับหญ้าทั่วไป หากสามารถจดจำลักษณะของต้นแห้วหมูได้ นับว่าเป็นประโยชน์มากทีเดียว

เพราะแห้วหมูจัดเป็นยาที่ช่วยลดอาการจุกเสียดแน่นท้องได้ดี เนื่องจากในแห้วหมู มีน้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณในการคลายอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อเรียบอยู่มาก ทำให้นอกจากจะช่วยแก้อาการท้องอืดแล้ว ยังช่วยลดการเกิดตะคริวบนหน้าท้องและอาการปวดเกร็งบริเวณหน้าท้องได้เป็นอย่างดี

แต่ถ้าไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างแห้วหมูกับหญ้าทั่วไปออกได้ ก็ลองถอนขึ้นมาดูส่วนที่เป็นราก หากเห็นหัวขนาดเล็กเกาะอยู่ตามบริเวณราก ก็นั่นแหละต้นแห้วหมู สามารถเด็ดเอาหัวเหล่านั้นมาล้างให้สะอาด แล้วเข้าเป็นยาแก้ท้องอืดได้ดีนักเชียว

4.กระพังโหม บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง   

กระพังโหมเป็นไม้เถาขนาดเล็ก พบได้ตามป่าละเมาะทั่วไป โดยจะพาดตัวไปตามต้นไม้ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ พบได้มากตามดินทรายริมแม่น้ำ ในเรื่องของสมุนไพร สามารถนำมาเข้ายาได้ทุกส่วนจัดเป็นสมุนไพรอายุวัฒนะอีกขนานหนึ่งก็ว่าได้

วิธีเข้าตัวยา

แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย : ช่วยให้เจริญอาหาร ใช้ทั้งต้นยาวประมาณ 2 คืบ นำมาเด็ดเป็นท่อนขนาดเท่านิ้วก้อย ใบบีบพอช้ำ ลำต้นบุบพอแตก ต้มกับน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวจนเหลือ 2 ใน 3 หรือประมาณ 600 ซีซี

กรองเอาแต่น้ำ แบ่งดื่ม 3 ครั้งต่อวัน ดื่มเป็นประจำ รสขมเฝื่อนๆ ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยขับพยาธิ ขับปัสสาวะ แก้พิษแอลกอฮอล์

ใบกระพังโหมสมุนไพรแก้สารพัดโรค : ใบกระพังโหมไม่แก่ไม่อ่อนประมาณ 5-10 ใบ โขลกจนละเอียดผสมน้ำอุ่น 1 ถ้วยกาแฟ กรองเอาแต่น้ำ อมบ้วนปากแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน ใช้น้ำคั้นจากใบ หยอดฟันซี่ที่ปวด ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน

หรือใช้ 10 ใบ บีบพอช้ำ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวจนเหลือ 600 ซีซี กรองเอาแต่น้ำ แบ่งดื่ม 3 ครั้งต่อวัน เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยให้ฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็วขึ้น หรือใช้ 5 ใบ โขลกจนละเอียด ใช้พอกแผลแก้งูสวัด แก้เริม บรรเทาแผลปวดแสบปวดร้อน

สรรพคุณเด่นของกระพังโหม

กระพังโหมมีอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน พันธุ์ที่มียางสีขาวใบใหญ่เรียกกันด้วยชื่อชาวบ้านว่า “ตดหมู” ที่ได้ชื่อนี้เพราะมีกลิ่นเหม็นเขียวมาก

ส่วนพันธุ์ที่มีใบขนาดเล็ก จะมีกลิ่นเหม็นน้อยกว่าเรียกว่า “ตดหมา” ส่วนพันธุ์ที่มีใบขนาดใหญ่ไม่มีขนตามใบ มีกลิ่นเหม็นเขียวเพียงเล็กน้อยจะเรียกว่า “ย่านพาโหม” เป็นต้น

ซึ่งอย่างหลังนี้ สามารถนำมาลวกน้ำร้อนกินเป็นผักแกล้มน้ำพริกก็ได้ ได้ทั้งรสชาติ ได้ทั้งเรื่องบำรุงกำลัง และช่วยให้เจริญอาหาร

แนะนำ : เกร็ดความรู้สุขภาพพร้อมข้อคิด : 6 Tip ดูแลตัวเองและผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง Ep.37
แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด ข้อดี-ข้อเสียของการดื่มกาแฟ Ep.38
แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด : การดื่มน้ำผักผลไม้สด เพื่อให้ได้สารอาหาร Ep.39

5.จันทน์เทศ บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

ผล ใบ และดอก ของจันทน์เทศมีกลิ่นหอมฉุน นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องเทศช่วยปรุงแต่งกลิ่นอาหารให้หอมน่ากิน โดยเฉพาะอาหารอินเดีย มักจะใช้จันทน์เทศเป็นส่วนประกอบสำคัญ

“จันทน์เทศ” ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นพันธุ์ไม้ที่มาจากเมืองนอก ซึ่งจริง ๆ แล้ว บ้านเราก็มีต้นจันทร์นี้อยู่เหมือนกัน ที่เรียกว่า “จันทร์หอม” แต่กลิ่นจะฉุนไม่เท่าของเมืองนอก เรียกว่าแพ้เป็นเท่าตัว จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ ผลสามารถนำมากินได้ พันธุ์ที่มีกลิ่นฉุนแรงจะเป็นพันธุ์ที่มาจากอินโดนีเซีย

จันทน์เทศเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10 – 15 เมตร ต้นแยกเพศ ต้นตัวเมียจะมีดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ส่วนต้นตัวผู้ออกดอกเป็นช่อ มีผลค่อนข้างกลม

เมื่อแก่จัดจะแตกเป็นสองซีก มีเมล็ดสีแดงสดอยู่ภายใน ซึ่งจะมีรกสีน้ำตาลลักษณะเป็นร่างแหหุ้มอยู่อีกทีนึง

ส่วนนี้นี่เองที่เป็นเครื่องเทศชั้นดี เพราะมีกลิ่นหอมและฉุนมากกว่าส่วนอื่น เขาจะลอกมาอย่างระวังโดยที่คงรูปร่างไว้เช่นเดิมให้มากที่สุด ต่อด้วยบีบให้แบนแล้วเอาไปตากแดดจนแห้งสนิท ก็จะได้เครื่องเทศที่มีรูปร่างลักษณะแปลกตา

ใช้แต่งกลิ่นและเพิ่มรสชาติให้ดีขึ้น และยังสามารถนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มเพื่อขับเลือดลม บำรุงเลือด และหมุนเวียนระบบเลือดลมในร่างกาย

วิธีเข้าตัวยา

สมุนไพรบำรุงอวัยวะภายใน : ใช้แก่นจันทน์เทศขนาดเท่านิ้วก้อย 1 – 2 ท่อน บุบพอแตก ต้มกับน้ำประมาณ 2 ถ้วยกาแฟ เคี่ยวจนเหลือครึ่งเดียว กรองเอาแต่น้ำดื่ม เพื่อเป็นสมุนไพรบำรุงตับ บำรุงปอด ถอนพิษไข้ กลิ่นฉุนช่วยให้โล่งจมูก

บำรุงร่างกายช่วยให้เจริญอาหาร : ใช้รากจันทน์เทศขนาดเท่านิ้วก้อย 1 – 2 ท่อน ตากแดดให้แห้งสนิท ฝนให้เป็นผงละเอียด ใช้ประมาณ 1 ช้อนชาชงกับน้ำร้อนดื่มอุ่นๆ ก่อนอาหารประมาณ 15 – 20 นาที เป็นการเตรียมความพร้อมของกระเพาะอาหาร

ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยหมุนเวียนเลือด แก้อาการแน่นท้อง ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อทั้งก่อนและหลังกินอาหาร

สมุนไพรขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ : ใช้ส่วนที่เป็นเมล็ด 5 – 10 เมล็ด ตากแดดให้แห้งสนิท ป่นให้เป็นผงใช้ประมาณ 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน ดื่มอุ่นๆ หลังอาหารประมาณ 10-15 นาที ช่วยไล่ก๊าชและลมในกระเพาะ ลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้ดี

สรรพคุณเด่นของจันทร์เทศ

อาการแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ทั้งก่อนและหลังอาหาร เป็นแทบจะทุกคนก็ว่าได้ ที่มีปัญหาเรื่องเหล่านี้ เพียงแต่จะมากหรือน้อยแตกต่างกันเท่านั้น

แม้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเท่าไร แต่ก่อให้เกิดความรำคาญสูง เพราะมันจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่สบายเนื้อสบายตัว

และเพราะจันทน์เทศมีสรรพคุณในเรื่องขับลมได้ดี จึงน่าจะมีจันทน์เทศติดบ้านเรือนเอาไว้ เพราะไม่ใช่ว่าจันทน์เทศจะมีดีในเรื่องขับลมเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้จันทน์เทศเป็นยาบำรุงร่างกายได้อย่างดีทีเดียว ดื่มอุ่นๆ ก่อนนอนจะช่วยให้นอนหลับสบาย และนอนหลับสนิทมากขึ้น

แต่ต้องเตือนเอาไว้สักหน่อย เนื่องจากในเมล็ดจันทน์เทศจะมีสาร “ไมริสติซิน” อยู่ สารตัวนี้ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราชนิดต่าง ๆ ได้ก็จริง แต่มีฤทธิ์กดประสาท

หากได้รับมากเกินไป จะทำให้ประสาทหลอนหรือเกิดอาการชัก จึงไม่ควรใช้เมล็ดจันทน์เทศติดต่อเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะเด็กและคนที่มีอายุมาก ไม่ควรใช้ เพราะมีความต้านทานต่อฤทธิ์ของยาต่ำ

ถ้าต้องการใช้จันทน์เทศเป็นสมุนไพรแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือเป็นสมุนไพรบำรุงร่างกาย ให้เปลี่ยนไปใช้ดอกหรือแก่นจันทน์เทศแทน

6.ตะไคร้ ขับลม เรียกความสดชื่น

เมื่อพูดถึงข่าแล้ว จะไม่พูดถึงตะไคร้ก็คงจะไม่ได้ เพราะข่าและตะไคร้เป็นของคู่กัน มีข่าต้องมีตะไคร้ ไม่เช่นนั้นแล้วต้มยำคงเป็นต้มยำไปไม่ได้

ตะไคร้เป็นพืชในตระกูลเดียวกับหญ้า มีลำต้นจริงประมาณ 4-5 เซนติเมตร อยู่ใต้ดินและส่วนที่เหลือจากพื้นดินเล็กน้อย ที่เหลือจะเป็นลำต้นเทียม โดยที่ลำต้นจะถูกห่อหุ้มเอาไว้ด้วยกาบใบอีกทีหนึ่ง ใบของตะไคร้มีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก จึงมีสรรพคุณในเรื่องขับลมได้ดีอีกขนานหนึ่ง

โดยปกติแล้ว ตะไคร้มักจะนำไปเป็นเครื่องดับคาวให้กับอาหารต่าง ๆ ก็เพราะกลิ่นที่หอมฉุนและรสชาติเผ็ดร้อน โดยเฉพาะอาหารกึ่งดิบกึ่งสุก จะต้องมีตะไคร้ร่วมอยู่เสมอ

ในส่วนของสมุนไพร จะใช้ส่วนของลำต้นแก่และเหง้าใต้ดิน มีสรรพคุณทางยาสูง เด่นในเรื่องขับเลือดลม กระตุ้นการหมุนเวียนโลหิต บำรุงธาตุ และรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ

วิธีเข้าตัวยา

ขับลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง : ตะไคร้สด 100 กรัม ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำผสมน้ำอุ่น 1 ถ้วยกาแฟ แก้คลื่นไส้ แก้วิงเวียนศีรษะ ช่วยให้สร่างจากพิษสุรา ดื่มเพื่อบรรเทาอาการแน่นท้อง เพราะมีเมนทอลที่ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้

แก้ท้องเสีย แก้อหิวาต์ : ตะไคร้สด 100 กรัม หั่นเป็นแว่นต้มกับน้ำครึ่งลิตร เคี่ยวจนเหลือครึ่งเดียว ดื่มอุ่น ๆ ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีน้ำมันหอมระเหยซิทราล ที่มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งยังช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย

รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา : ตะไคร้สด 1 ต้น ฝนกับเหล้าขาว 1 ช้อนแกง ทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า น้ำมันหอมระเหย ซิทราล และ เมอร์ซีน จะช่วยต้านเชื้อรา และทำลายเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของโรค

สรรพคุณเด่นของตะไคร้

หากถามว่า จะนำตะไคร้ไปทำอะไรจึงจะดีที่สุด คำตอบง่าย ๆ เอาไปทำเป็นน้ำตะไคร้ แช่ในตู้เย็นดื่มแทนน้ำเปล่าปกติ

โดยใช้สัดส่วนตะไคร้ 100 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร หั่นตะไคร้เป็นท่อนเล็ก ๆ บุกให้แตก ต้มให้เดือดประมาณ 5-10 นาที กรองเอาแต่น้ำโดยที่ไม่ต้องผสมน้ำตาลแต่อย่างใด เว้นแต่ต้องการจะเพิ่มรสชาติ จะดื่มอุ่นๆ หรือแช่เย็นก็ได้

การดื่มน้ำตะไคร้เป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เป็นสมุนไพรเรียกกําลังชั้นดี ช่วยเรียกความสดชื่นให้กับร่างกาย แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง เนื่องจากมีกรดและลมในกระเพาะมากจนเกินไป

ตะไคร้ช่วยขับลมได้ดี อีกทั้งมีสารที่ออกฤทธิ์กดประสาทอ่อนๆ ช่วยให้นอนหลับสบาย ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงสมอง ช่วยเพิ่มสมาธิ บรรเทาอาการหอบหืด

คนที่ประสบปัญหาเรื่องภูมิแพ้ จะช่วยได้มากทีเดียว เพราะมีสารที่ช่วยขยายหลอดลม เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยขับนิ่วในไต ลดการอักเสบในทางเดินปัสสาวะ ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย แก้อหิวาต์ เรียกว่าสรรพคุณครอบจักรวาล แก้สารพัดโรคกับน้ำต้มตะไคร้วันละ 1 แก้ว เป็นอย่างน้อย

แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด : 8 วิธีเริ่มต้นลดความอ้วนแบบธรรมชาติ Ep.40
แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ ผักและสมุนไพร : โรคโลหิตจาง ควรกินอะไรดี? Ep.41
แนะนำ : เกร็ดความรู้สั้น ๆ พร้อมข้อคิด : ไทรอยด์เป็นพิษ ห้ามกินอะไร Ep.42

เรื่องที่เกี่ยวข้อง