วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับอาการของแผลร้อนใน Ep.23

แผลร้อนใน ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแผลเล็ก ๆ ในปาก แต่ก็สร้างความเจ็บปวด ถึงขั้นกินข้าวกันไม่อร่อยได้เลย งั้นไปดูกันสักนิดว่า แผลร้อนในที่ว่านี้มาจากอะไร แล้วเราจะแก้มันยังได้บ้าง

แผลร้อนในพบได้กับทุกเพศทุกวัย

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักพบบ่อยในวัยรุ่นจนถึงวัยหนุ่มสาว โดยแผลร้อนใน จะเกิดขึ้นที่บริเวณเยื่อบุผิวในช่องปาก

สาเหตุของการเกิดร้อนใน ถ้าหากไม่นับรวมการทำให้เกิดแผลในช่องปากโดยตรง เช่น แปรงฟันแล้วไปกระแทกเหงือก หรือโดนเหล็กเกี่ยวฟันเกี่ยวหรือกด โดนขอบฟันปลอมที่คมหรือไม่ดีพอเสียดสี เป็นต้น

แต่หมายถึงว่าอยู่ดี ๆ ก็เกิดเป็นแผลร้อนในขึ้นมาซะงั้น โดยทั่วไป แพทย์แผนปัจจุบัน ยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่แน่ชัด แต่พอจะรู้ถึงปัจจัย ที่มีส่วนทำให้เกิดแผลร้อนใน ได้แก่

แนะนำ : เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับกล้วยหอม Ep.1
แนะนำ : เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับโรคมะเร็ง Ep.2
แนะนำ : 26 เกร็ดความรู้สั้น ๆ เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับมะเขือเทศ Ep.3

สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลร้อนใน ในปาก

  • พันธุกรรม พบว่าร้อยละ 30-40 ของผู้ที่เป็นร้อนในบ่อย ๆ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
  • ความเครียด พบว่าแผลร้อนใน มักเกิดในช่วงที่มีความเครียด ความกังวลทางจิตใจมาก ๆ
  • ฮอร์โมนเพศ เพราะมักจะพบแผลร้อนในได้บ่อยในผู้หญิง โดยเฉพาะช่วงใกล้มีประจำเดือน แต่จากการศึกษา ยังไม่สามารถระบุถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนได้
  • การแพ้สารเคมีในอาหาร หรือสิ่งที่ใช้ในช่องปาก เช่น แพ้สารบางชนิดในน้ำยาบ้วนปากหรือยาสีฟัน
  • การขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด เช่น วิตามินบี เหล็ก และสังกะสี
  • การติดเชื้อบางชนิดเช่น แบคทีเรีย Helicobacter pylori หรือเชื้อไวรัส โรคเริม
  • การสูบบุหรี่
  • อาจเกิดจากโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น SLE

อาการของแผลร้อนใน

ลักษณะอาการของแผลร้อนใน คือ มีแผลเปื่อย เจ็บมาก เกิดในเนื้อเยื่อช่องปากได้ทุกที เช่น ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก เพดานลิ้น ใต้ลิ้น รอยต่อระหว่างริมฝีปากกับเหงือก และบางรายที่รุนแรงอาจพบแผลในลำคอได้

แผลที่เกิด อาจเกิดเพียงหนึ่งหรือหลายแห่ง โดยปกติตอนแรก ก็จะเกิดเป็นจุดแดงหรือตุ่มเล็ก ๆ ก่อน ต่อมาจึงพัฒนาเป็นสีขาว มีขอบแดง ๆ และขยายออกมาเป็นแผลเปื่อย บนตัวแผลอาจเปลี่ยนเป็นสีออกเทา ๆ

ทั้งนี้ขนาดของแผล มีได้ตั้งแต่เป็นมิลลิเมตร ไปจนถึงหลายเซนติเมตร อาจมีเพียงแผลเดียว หรือมีได้เป็นสิบแผล

โดยลักษณะสำคัญของแผลร้อนในคือ เป็นแผลที่เจ็บมาก โดยเฉพาะเมื่อถูกกระทบหรือสัมผัส เช่น การรับประทานอาหารร้อนจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด จะทำให้เจ็บมาก

นอกจากนั้น อาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้คาง ใกล้ ๆ ขากรรไกรบวมโตขึ้น แต่ขนาดไม่โตมาก และมีอาการเจ็บร่วมด้วย เราสามารถแบ่งแผลร้อนในได้เป็น 3 ลักษณะตามระดับความรุนแรง ได้แก่

1.แผลร้อนในขนาดเล็ก

เป็นลักษณะที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณร้อยละ 80 ของแผลร้อนในทั้งหมด แผลมีขนาดเล็ก มักมีขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร และเป็นแผลตื้น ๆ มักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ พบบ่อยในกลุ่มอายุ 15-45 ปี

2.แผลร้อนในขนาดใหญ่

พบบ่อยบริเวณด้านข้างลิ้น เพดานอ่อน ด้านในริมฝีปาก และพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ ที่เลยวัยรุ่นไปแล้ว ผู้ป่วยมักเจ็บปวดมาก กินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด แผลมักหายช้าเป็นเดือน เมื่อหายแล้วแผลมักเกิดซ้ำได้บ่อย และอาจก่อให้เกิดพังผืด หรือแผลเป็นที่บริเวณที่เกิดแผลได้

แนะนำ : 14 เกร็ดความรู้สั้น ๆ เกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพให้ได้ผลดีที่สุด Ep.4
แนะนำ : เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกต้อง Ep.5
แนะนำ : เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับประโยชน์ของแอปเปิ้ล Ep.6

3.แผลชนิดคล้ายเฮอปีส์

เป็นแผลร้อนในเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ที่พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 แต่รุนแรงกว่าทั้ง 2 ชนิดที่กล่าวมาแล้ว มักเกิดในผู้ใหญ่ และพบบ่อยในเพศหญิง โดยจะมีแผลเล็ก ๆ หลายแผล (มีรายงานว่าเป็นแผลเล็ก ๆ ได้มากกว่าร้อยแผล) กระจายทั่วทั้งช่องปาก

ทั้งนี้ ต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เพราะผู้ป่วยจะเจ็บแผลมาก จนกระทบต่อการกินอาหารและดื่มน้ำ เมื่อได้รับการรักษาแผลมักหายภายในระยะเวลาน้อยกว่า 1 เดือน และมักไม่เกิดเป็นพังผืดหรือแผลเป็น

    วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นร้อนใน

    • พักผ่อนให้เพียงพอ
    • กินอาหารอ่อน รสจืด เพื่อลดการระคายเคืองต่อช่องปาก ลดอาการเจ็บช่องปาก
    • ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
    • ถ้าแผลอักเสบปวดมาก สามารถกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล และทายาต้านการอักเสบที่แผลในช่องปาก
    • รีบไปพบแพทย์ เมื่อกินอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อยลง เจ็บแผลมาก มีไข้ และแผลไม่หายเองภายใน 2 สัปดาห์

    ที่สำคัญคือ เมื่อแผลร้อนในชนิดใดก็ตาม มีอาการไม่ดีขึ้น หลังดูแลตนเองภายใน 2 สัปดาห์ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อแยกจากการอักเสบติดเชื้อหรือมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นอายุที่เริ่มพบโรคมะเร็งของช่องปากได้สูงขึ้น

    แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่เคยมีรายงานว่า แผลร้อนในนั้นกลายเป็นมะเร็ง แต่แผลโรคมะเร็งอาจมีลักษณะแผลเหมือนกับแผลร้อนในได้

    ร้อนในกับมุมมองของแพทย์ทางเลือก

    สำหรับการแพทย์ทางเลือก ทั้งแพทย์แผนไทยและแผนจีน เชื่อว่า “ร้อนใน” เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายสำแดงออกมา เพื่อให้รู้ว่าร่างกายของเราไม่สมดุล หากเปรียบเป็นศาสตร์จีน ก็หมายถึงหยินและหยางในร่างกายไม่เท่ากัน ทำให้รู้สึกแปรปรวนอยู่ภายใน โดยมีสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดอาการร้อนในได้ ดังนี้

    • นอกดึก พักผ่อนน้อย ร่างกายอ่อนเพลีย แน่นอนว่าเมื่อร่างกายของเราไมได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะลดลง ส่งผลให้ร่างกายไม่สบายและเจ็บป่วยได้ง่าย
    • ขับถ่ายไม่เป็นเวลา ท้องผูก ทำให้ของเสียที่จริง ๆ แล้วจะต้องถูกขับออกจากร่างกาย ถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดเป็นความร้อนสะสมอยู่ภายในร่างกายต่อไป
    • รับประทานอาหารสจัด อาหารมัน หรืออาหารทอดบ่อย ๆ เพราะนั่นก็เหมือนกับเรานำเอาความร้อนเพิ่มเข้าไปในร่างกายนั่นเอง
    • เครียดจัด เนื่องจากความเครียด จะมีผลกระทบต่อจำนวนภูมิ ที่ตอบสนองในการติดเชื้อ และเม็ดเลือดขาว จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

    สรุปแล้วก็คือ จะสามารถเห็นได้ว่า สาเหตุก็จะค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันกับแพทย์แผนปัจจุบัน นั่นก็คือ เกิดจากมีเหตุให้ร่างกายมีความอ่อนแอลง ดังนั้นการกินอยู่อย่างระมัดระวัง จะเป็นช่องทางที่ทำให้เราไม่ต้องเป็นร้อนในบ่อย ๆ ได้ รวมถึงทำให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย


    ที่มา : Health Today

    แนะนำ : 7 เกร็ดความรู้สั้น ๆ เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับอาหารบำบัดโรค Ep.7
    แนะนำ : 4 เกร็ดความรู้สั้น ๆ เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับการกินให้สุขภาพแข็งแรง Ep.8
    แนะนำ : เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ เกี่ยวกับการป้องกันการปวดหลังส่วนล่าง Ep.9

    เรื่องที่เกี่ยวข้อง